“ดอยช้าง” มีลักษณะพื้นที่เป็นเทือกเขาสูง ตั้งแต่ 1,200 - 1,450 เมตร จากระดับน้ำทะเล ลักษณะดินเป็นดินร่วนที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินและแร่ธาตุ มีอินทรีย์วัตถุสูง การระบายน้ำดี pH ประมาณ 6.0 – 6.5 นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำลำห้วยหลายสาย รวมไปถึงบ่อน้ำธรรมชาติทั้งใหญ่และเล็ก
----
หากพูดถึง “พาคามาร่า” (Pacamara) คอกาแฟหลายคนรู้จักกันดี ในฐานะร้านกาแฟ Specialty Coffee ที่มีจุดเริ่มต้นจากร้านกาแฟเล็ก ๆ ในถนนคนเดินเชียงใหม่ ที่ได้เดินทางไปเสาะแสวงหากาแฟชั้นดีของเมืองไทยและจากทั่วทุกมุมโลกมาคั่วอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้คอกาแฟได้ลิ้มลองรสชาติพิเศษของกาแฟที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดย พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์ (Pacamara Coffee Roasters) ถือเป็นแบรนด์กาแฟสัญชาติไทยที่มี “DNA” ของ Specialty Coffee 100% ที่เกิดขึ้นจากการแลเห็นถึงความพิเศษของ Specialty Coffee ของบริษัท Peaberry Thai ในช่วงที่พาคามาร่าถือกำเนิด เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของเมืองไทย กำลังเริ่มเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม (Third Wave Coffee Culture) ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น นับเป็นช่วงเวลาที่กาแฟพิเศษยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ทั้งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และนั่นจึงทำให้ Peaberry Thai กลายเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่มองเห็นความพิเศษของกาแฟชนิดนี้ และพยายามนำ Specialty Coffee เข้ามาสู่ตลาดนักดื่มในเมืองไทยผ่านแบรนด์ Pacamara พร้อมผลักดันคุณภาพโรงคั่วกาแฟ ให้ทัดเทียมระดับสากล ทั้งในด้านคุณภาพและระบบการผลิต เพื่อพัฒนากาแฟไทยให้กลายเป็นเกรด Specialty ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การแปรรูป ไปจนถึงการชง
นับจากการเริ่มต้นในวันนั้น จนถึงวันนี้ “Pacamara Coffee Roasters” ได้กลายเป็นแบรนด์กาแฟที่ได้รับการยอมรับในเรื่อง quality café ที่เน้นในเรื่องความรู้ และความหลากหลายของกาแฟจากหลายแหล่งทั่วไทยและทั่วโลก ที่พร้อมส่งมอบกาแฟพิเศษคุณภาพเยี่ยมให้กับลูกค้าทุกคน และในโอกาสครบรอบ 13 ปี ทางแบรนด์จึงมีความตั้งใจที่จะส่งมอบกาแฟพิเศษคุณภาพเยี่ยม ให้กับคอกาแฟทุกท่าน เพื่อทำให้ทุกวัน เป็นวันพิเศษของลูกค้าทุกคน โดยใช้เมล็ดกาแฟไทยเกรด Peaberry จาก 5 ดอย 8 เกษตรกร ที่เป็นคู่ค้ากับ Pacamara มาอย่างยาวนาน ซึ่งเมล็ดที่ใช้จะเป็นเมล็ดที่มีความพิเศษ ผ่านการโปรเซสคัดแยกเฉพาะเมล็ด Peaberry Grade จากโรงสีที่เชียงราย (Peaberry Thai Estate) ผ่านการคั่วในระดับ Espresso ในแบบฉบับเฉพาะของ Pacamara เพื่อนำมาเบลนด์ด้วย Profile ที่ Develop ขึ้นมาเป็นพิเศษ ภายใต้แนวคิด ที่ไม่ใช่แค่เบลนด์กาแฟให้อร่อย แต่เป็นการเบลนด์ไอเดียและเอกลักษณ์ของเหล่าเกษตรกรและแหล่งปลูกเอาไว้ด้วยกัน โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับแต่งรสชาติ ด้วยความตั้งใจในการคัดสรรคุณภาพทุกขั้นตอน และนั่นจึงทำให้พระเอกในงานนี้ไม่ใช่แค่กาแฟในแก้ว แต่ยังเป็นเรื่องราวมากมายในระหว่างการเดินทาง ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูป รวมไปถึงเกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังทุกเมล็ดกาแฟ ที่ Pacamara ได้นำมารังสรรค์ เพื่อสร้าง Coffee Culture ใหม่ ๆ พร้อมขยายตลาดกาแฟ Specialty ให้เติบโต และก้าวไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น
ถิ่นกาแฟคุณภาพ "ดอยช้าง"
หากพูดถึงแหล่งเพาะปลูกกาแฟคุณภาพ เชื่อว่า “ดอยช้าง” คงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ติดอันดับในใจสายกาแฟอย่างแน่นอน ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นเทือกเขาสูง ตั้งแต่ 1,200 - 1,450 เมตร จากระดับน้ำทะเล ลักษณะดินเป็นดินร่วนที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินและแร่ธาตุ มีอินทรีย์วัตถุสูง การระบายน้ำดี pH ประมาณ 6.0 – 6.5 นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำลำห้วยหลายสาย รวมไปถึงบ่อน้ำธรรมชาติทั้งใหญ่และเล็ก ที่มีน้ำซึมและไหลตลอดทั้งปี ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรดิน และสภาพอากาศ จึงทำให้พื้นที่นี้ เหมาะแก่การปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา และเมื่อมาผนวกรวมกับการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวอย่างพิถีพิถัน และกรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐานของพี่ข้อง (ธนิน วิบูลจิตธรรม) จึงทำให้สวนของพี่ข้องกลายเป็นแหล่งปลูกอาราบิกาคุณภาพสูง และเป็นหนึ่งในสวนกาแฟที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในหมู่บ้านดอยช้าง
" ผมมีความคิดเริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรให้เรามีรายได้ขณะอยู่บนดอย สามารถดูแลครอบครัวได้ "
“ที่นี่เป็นบ้านเกิดของผม ผมเป็นผู้ชายคนเดียวในครอบครัวที่มีผู้หญิง 8 คน พอเรียนจบ ปวส. แล้วจึงต้องกลับมาที่บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ ซึ่งกาแฟที่ปลูก เป็นของที่พ่อแม่เราปลูกเอาไว้อยู่แล้ว ผมก็เลยมาสานต่อ คือผมมีความคิดเริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรให้เรามีรายได้ขณะอยู่บนดอย สามารถดูแลครอบครัวได้ เพราะไม่อยากไปอยู่ในเมืองที่ต้องมีการแข่งขัน มีค่าใช้จ่ายสูง การอยู่บนดอยสำหรับผมแล้วมันสบายใจกว่า สะดวกกว่า เพียงแต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้รายได้มันเพียงพอกับรายจ่าย”
บ้านดอยช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เดิมเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าม้ง ก่อนที่ชนเผ่าอาข่าจะเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้านในช่วงปี พ.ศ. 2526 โดยชื่อ “บ้านดอยช้าง” ถูกตั้งขึ้นตามลักษณะของภูเขาอันเป็นสถานที่ตั้งของหมู่บ้าน ที่มีรูปร่างเหมือนช้างแม่ลูกสองเชือกหันหน้าไปทางทิศเหนือ
กาแฟได้เริ่มเข้ามาบนดอยช้าง เมื่อราวปี 2512 จากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริให้เกษตรกรบนพื้นที่ดอยสูง ทางภาคเหนือได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงชาวไทยภูเขาบนดอยช้าง ให้มีอาชีพที่ยั่งยืนมั่นคง แก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น นโยบายลดพื้นที่การปลูกฝิ่นเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2526 จากกรมประชาสงเคราะห์โดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ที่ได้นำพันธุ์พืชเมืองหนาวมาให้เกษตรกรปลูกเพื่อทดแทนฝิ่น เช่น แมคคาเดเมีย บ๊วย สาลี่ รวมไปถึงกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการทดลองและวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็นับเวลากว่า 40 ปีแล้ว ที่กาแฟบนดอยช้างถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ จนที่นี่กลายเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกที่สามารถผลิตกาแฟและให้ผลผลิตคุณภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งรวมไปถึงสวนกาแฟกว่า 20 ไร่ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาสูง 1,200 - 1,300 เมตร ที่พี่ข้อง ได้เข้ามาสานต่อ และพัฒนาต่อยอด เพื่อดูแลอาราบิกากว่า 20,000 ต้นที่อยู่ในสวนให้ได้ผลผลิตที่ดีงาม
“ครอบครัวผมก็เหมือนคนอื่นบนดอยช้างที่ได้กล้ากาแฟมาจากกรมประชาสงเคราะห์ ในตอนแรกที่ได้มากาแฟมันยังไม่บูม พอเกษตรกรปลูกแล้วมันก็เลยขายไม่ได้ หลายคนเลยรื้อต้นกาแฟทิ้ง แล้วปลูกมะเขือ ปลูกกะหล่ำแทน ระยะหลังพอกาแฟเริ่มดัง คนจึงเริ่มกลับมาปลูกกาแฟอีกครั้ง แต่บ้านผมไม่รื้อนะ พ่อแม่ผมยังปลูกอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีองค์ความรู้อะไรมาก คือปลูกเอาไว้แบบนั้น ต้นไหนตายก็ปลูกซ่อม ต้นที่ใช้ปลูกซ่อมก็เอามาจากในสวนของตัวเองนั้นแหละ ต้นไหนดูแข็งแรง เมล็ดดูดี เราก็จะเอาเมล็ดจากต้นนั้นไปเพาะ ต่อมาพอผมเข้ามาดูแลสวนแทน ผมก็เริ่มหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ แล้วพัฒนาการปลูก การแปรรูปกาแฟเรื่อย ๆ เพื่อให้กาแฟที่เรามีอยู่แล้ว มันดีขึ้นไปอีก”
จากการพยายามพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้ในปัจจุบันสวนกาแฟของพี่ข้อง กลายเป็นแหล่งปลูกเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงเทียบเท่าเกรด specialty ที่มีเอกลักษณ์ด้านกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว คือมีกลิ่นอายของชา เจือรสเปรี้ยวจากกรดของผลไม้ รสชาติกลมกล่อม ชุ่มคอ การันตีด้วยรางวัล Rank 7 ประเภท Washed Process การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทย ประจำปี 2567 ที่จัดโดย SCATH ด้วย Score ที่สูงถึง 86.98 คะแนน ซึ่งนอกจากการพัฒนากาแฟแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่พี่ข้องให้ความสำคัญคือการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“เราจะปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ คือจะมีต้นไม้แซมอยู่ตลอด เพราะเดี๋ยวนี้อากาศมันร้อนขึ้น การมีต้นไม้ปกคลุมต้นกาแฟมันจะทำให้ต้นกาแฟอายุยืน และให้ผลผลิตดีกว่า แล้วเวลาเข้าไปทำงานในสวน คนทำงานจะได้รู้สึกสบาย ไม่ร้อน เพราะมีร่มเงาอยู่ โดยเราจะพยายามไม่ตัดต้นไม้เดิมเลย ถ้าจุดไหนไม่มี เราก็พยายามไปหามาปลูกเพิ่ม โดยพืชที่ปลูกแซมบางต้นจะเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นบ๊วย ต้นมะเขือ ถ้าที่ไหนร้อนและแห้ง เราก็จะหาต้นไม้สูงมาปลูกเพื่อให้มีร่มเงา ส่วนดินก็จะใช้ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดให้กับหน้าดิน แล้วก็พยายามหาขี้วัวมาใส่ เพื่อบำรุงดินให้สมบูรณ์”
นอกจากการพัฒนาสวนกาแฟ และบำรุงดูแลต้นกาแฟแล้ว พี่ข้องยังมีการสนับสนุนชาวสวนในพื้นที่ด้วยการรับซื้อเชอร์รีจากลูกสวน ในปัจจุบันพี่ข้องมีลูกสวนในการดูแลอยู่ประมาณ 30 – 40 คน โดยพี่ข้องจะคอยให้คำแนะนำเรื่องการใส่ปุ๋ย การดูแลสวน การตัดแต่งกิ่ง ไปจนถึงการรับซื้อเชอร์รีเพื่อเอามาแปรรูป
“จุดเริ่มต้นที่พี่มาทำกาแฟมันเป็นเพราะเหตุจำเป็น คือตอนนั้นแม่พี่เสียชีวิต แล้วที่บ้านไม่มีใครอยู่ พี่จึงต้องขึ้นมาทำ เพราะกาแฟเป็นอาชีพหลักของครอบครัวอยู่แล้ว และที่นี่ก็เป็นบ้านเกิดของพี่ ครอบครัวของพี่ปลูกกาแฟมาเกือบ 40 ปีแล้ว ส่วนตัวพี่เพิ่งเริ่มกลับมาทำเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนแรกก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายที่ไหน แต่โชคดีที่มีพี่ข้องที่ช่วยรับซื้อ”
" ที่นี่ก็เป็นบ้านเกิดของพี่ ครอบครัวของพี่ปลูกกาแฟมาเกือบ 40 ปีแล้ว ส่วนตัวพี่เพิ่งเริ่มกลับมาทำเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนแรกก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายที่ไหน แต่โชคดีที่มีพี่ข้องที่ช่วยรับซื้อ "
พี่เล็ก (ชนาภรณ์ มงคลกุลผ่องใส) หนึ่งในลูกสวนที่ทำงานร่วมกับพี่ข้องมานานกว่า 10 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ก้าวเข้ามาอยู่ในวงการกาแฟ โดยพี่เล็กเป็นเจ้าของสวนกาแฟมากถึง 50 ไร่ ซึ่งกาแฟที่ปลูกหลัก ๆ จะเป็นอาราบิกาสายพันธุ์คาร์ติมอร์ ผสมผสานกับสายพันธุ์อื่น ๆ และถือเป็นลูกสวนที่มีสวนกาแฟมากที่สุดในบรรดาลูกสวนทั้งหมด
“พี่ข้อง จะเข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการใส่ปุ๋ย ว่าควรใส่ปริมาณเท่าไร ใส่ยังไง สูตรอะไร แล้วพอฤดูเก็บเกี่ยว ก็แนะนำว่าควรเก็บยังไง คัดเมล็ดยังไง แนะนำเรื่องการทำโคนต้นกาแฟ การบำรุงดิน พอถึงฤดูการเก็บเกี่ยว เราก็จะเริ่มคัดเมล็ดตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเลย เราจะคัดเก็บเฉพาะผลที่สุกเต็มที่ ถ้ายังไม่สุกเต็มที่เราจะไม่เก็บ และต้องไม่มีเม็ดดำเลยแม้แต่เม็ดเดียว แล้วก็จะมีการเอาไปลอยน้ำในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเอาไปส่งให้พี่ข้องด้วย”
ปัจจุบันพี่เล็กยึดการปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก โดยส่งเชอร์รีที่เก็บเกี่ยวได้ให้พี่ข้อง จากนั้นพี่ข้องก็จะนำเชอร์รีที่รับซื้อจากลูกสวน รวมกับของสวนตัวเอง มาแปรรูปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่ง 90 % เป็น Washed Process ก่อนจะนำส่งให้แหล่งที่รับซื้อ โดยหนึ่งในคู่ค้าหลักของพี่ข้อง คือ Pacamara Coffee Roasters ที่รับซื้อกาแฟจากพี่ข้องในปริมาณมากมาหลายปีในราคาที่ยุติธรรม จนกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่บ้านดอยช้างมาจนถึงทุกวันนี้
" เกณฑ์การรับซื้อเมล็ดของ Pacamara ค่อนข้างสูง มีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องความชื้น ทั้ง Defect "
จากยอดดอย สู่แบรนด์กาแฟ Specialty
“ผมรู้จักพี่ซานประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมไปอบรมคั่วกาแฟที่เชียงใหม่ ตอนนั้นมีการอบรมประมาณ 2 - 3 วัน ผมเลยมีโอกาสได้ทำความรู้จักแกที่นั้น จากนั้นก็เริ่มติดต่อ และค้าขายกาแฟกัน ตอนแรกก็ไม่เยอะหรอกแค่ 400 – 500 กิโล แต่พอบริษัทเริ่มโตขึ้น ปริมาณที่ซื้อก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ตัวที่ส่งให้ Pacamara จะเป็น Washed Process เพราะส่วนตัวผม ผมคิดว่าการแปรรูปแบบนี้มันสามารถคงเอกลักษณ์และคุณภาพของกาแฟได้ค่อนข้างดี”
พี่ข้องพูดถึงจุดเริ่มต้นในการมาทำงานร่วมกับ Pacamara จากการมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับคุณซาน (ชาตรี ตรีเลิศกุล) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Pacamara เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนนำมาสู่การทำงานร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยพี่ข้องถือได้ว่าเป็นหนึ่งเกษตรกรที่อยู่เคียงข้าง Pacamara มาอย่างยาวนาน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของแบรนด์เลยก็ว่าได้
“เกณฑ์การรับซื้อเมล็ดของ Pacamara ค่อนข้างสูง มีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องความชื้น ทั้ง Defect แต่ถามว่าดีไหม คำตอบคือดีมาก เพราะการที่เกณฑ์สูงแบบนี้ มันจะช่วยให้เกษตรกรพยายามพัฒนาและรักษาคุณภาพกาแฟของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กาแฟของเราตกเกณฑ์ที่เขาตั้งเอาไว้”
พี่ข้องกล่าวเสริมอีกว่า หนึ่งในเหตุผลที่เขาพยายามพัฒนาและรักษาคุณภาพกาแฟ รวมไปถึงคอยให้คำแนะนำแก่บรรดาลูกสวนที่เขารับซื้อเชอร์รี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องพยายามรักษาคุณภาพกาแฟให้อยู่ในเกณฑ์นี้ ซึ่งในความคิดของพี่ข้อง เกณฑ์ของพาคามาร่า เป็นเกณฑ์ที่สูงเทียบเท่ากับการแข่งขันเมล็ดกาแฟเลยทีเดียว
“มันดีมาก ๆ เลย เพราะเราก็ทำผลผลิตให้เขาอย่างเต็มที่ แล้วทั้ง ๆ ที่เขามีตัวเลือกมากมาย แต่เขาก็มาเลือกเรา มันทำให้เรารู้สึกว่า ที่เราพยายามทำอย่างเต็มที่มันคุ้มค่า เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทำให้เรามั่นใจ ว่ากาแฟของเรามีดีไม่แพ้ใคร”
เมล็ดกาแฟ Thai Doi Chang Arabica Washed ของพี่ข้อง เป็นหนึ่งในเมล็ดที่ใช้ใน ฮักหม๊ดไจ๋ 13TH ANNIVERSARY BLEND กาแฟพิเศษที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นด้วยความเอาใจใส่และใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อฉลองครบรอบ 13 ปีของ Pacamara โดยเมล็ดกาแฟจากดอยช้าง จะเป็นเมล็ดที่ผ่านกระบวนการ Washed Process เพื่อให้ได้รสชาติที่สะอาด พร้อมคงคุณสมบัติที่โดดเด่นของเมล็ดกาแฟ เพื่อคงกลิ่นอายของดอยช้างเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานกับเอกลักษณ์ของแหล่งปลูกของทั้ง 5 ดอยได้อย่างลงตัว เพื่อส่งมอบความพิเศษให้แก่ลูกค้าทุกคน ตามคอนเซ็ปต์แบรนด์ที่ว่า “Everyday Specialty – กาแฟสเปเชียลตี้ที่ดื่มได้ทุกวัน”
ฮักหม๊ดไจ๋ 13TH ANNIVERSARY BLEND
Roast Level : Medium Light
Taste Profile : Citrus, Plum, Dark Chocolate, Honey & Hint of Floral
-----
สนในผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่ :
Facebook : Pacamaracoffee
Instagram : Pacamara_th
Website : www.pacamaracoffee.com
โทร : 09 0902 0378
Comentarios