top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

Baan Le Ko • บ้านเลโคะ กาแฟที่รอใครสักคนเข้าไปช่วยกันพัฒนา

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกหนึ่งจังหวัดซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟทางภาคเหนือของประเทศไทย

ซึ่งมีกาแฟที่เหล่าคอกาแฟต่างชื่นชมกันอย่างหนาหู เช่น กาแฟห้วยห้อมของบ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย

หรือกาแฟดูลาเปอร์ของบ้านดูลาเปอร์เป็นต้น แม่ฮ่องสอนจึงมีชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นแหล่งปลูกกาแฟ

ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ เลยทีเดียว จากตัวอำเภอแม่สะเรียงเข้าสู่อำเภอสบเมย เพื่อไปยังหมู่บ้านเล็กๆ

กลางหุบเขาที่ชื่อว่าบ้านเลโคะ ซึ่งระยะทางห่างจากตัวอำเภอสบเมยประมาณ 35 กิโลเมตร

เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ก็ถึงหมู่บ้านแล้ว



แต่เดิมบ้านเลโคะตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง หลังจากที่นายเอควา คนก่อตั้งหมู่บ้านได้เสียชีวิตลง จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านมาเป็นเลโคะ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงจะเรียกว่า ไล้คู แปลว่า บ้านบนยอดผา ในปี พ.ศ. 2527 มีการแยกอำเภอแม่สะเรียงออกเป็นกิ่งอำเภอสบเมย บ้านเลโคะจึงได้ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านเลโคะ เดิมชื่อว่าบ้านเอควา ซึ่งเป็นชื่อของผู้ใหญ่บ้านหรือคนที่มาสร้างบ้านเรือนเป็นคนแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 พ่อกำนันหรือกำนันวินัย โกพอ เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับความเป็นมาของหมู่บ้านว่า “เมื่อก่อนหมู่บ้านเลโคะเป็นหมู่บ้านไม่ตั้งมั่น ชาวบ้านต้องย้ายไปตามสภาพพื้นที่ทำกิน และตามความเชื่อของบรรพบุรุษเคยกล่าวไว้ว่า หมู่บ้านนี้อาจจะอยู่ด้วยกันได้ไม่เกิน 30 หลังคาเรือน ถ้าเกินก็ต้องแยกไปอยู่ที่อื่น ทำให้ชาวบ้านที่พูดได้ว่าเป็นส่วนเกิน ต้องไปสร้างบ้านอยู่ที่บ้านทิยาพอและบ้านกลอโคะ ผู้เฒ่าผู้แก่เห็นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ หมู่บ้านอาจจะอยู่ไม่ยืนยาว จึงรวมตัวกันไปปรึกษาหมอผี และได้คำแนะนำกลับมาว่า ต้องสร้างศาลเจ้าที่ไว้นอกหมู่บ้าน 1 หลัง และทำพิธีเลี้ยงศาลเจ้าที่ปีละครั้ง แล้วหมู่บ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข คนสมัยก่อนเขามีความเชื่อกันแบบนั้น ซึ่งทุกวันนี้หมู่บ้านเราก็อยู่กันอย่างสงบเสมอมา”


แปลงปลูกกาแฟบ้านเลโคะจะอยู่บนพื้นที่สูงไม่มากนักประมาณ 600 – 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้น แต่ก็ทดแทนด้วยความสมบูรณ์ของพื้นที่ อย่างดิน น้ำ และอากาศ



ประชากรในหมู่บ้านเป็นชาวเขาชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ ทั้งหมด 120 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 425 คน อาชีพหลักของชาวบ้านคือ การทำไร่ ปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพจักสานและทอผ้า ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของหมู่บ้านอีกด้วย โดยเมื่อก่อนการจักสานและทอผ้าเป็นงานฝีมือของชนเผ่าอยู่แล้ว เนื่องจากชาวบ้านจักสานและทอผ้าใช้เอง ต่อมากรมการพัฒนาชุมชนเห็นว่าชาวบ้านเลโคะมีฝีมือดี จึงจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ในโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้จากสินค้าที่มีอยู่ในชุมชนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน ซึ่งรายได้ก็จะกระจายอยู่กับคนในชุมชน


นอกจากการจักสานและทอผ้าแล้ว อีกหนึ่งอาชีพของชาวบ้านก็คือการปลูกกาแฟ ซึ่งส่วนใหญ่แปลงปลูกกาแฟบ้านเลโคะจะอยู่บนพื้นที่สูงไม่มากนักประมาณ 600 – 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้น แต่ก็ทดแทนด้วยความสมบูรณ์ของพื้นที่ อย่างดิน น้ำ และอากาศ กาแฟเข้ามาที่หมู่บ้านโดยได้มาจากฝรั่งที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา แล้วเห็นว่าชาวบ้านอยู่บนพื้นที่สูงและมีพื้นที่เยอะ ก็เลยเอามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีตลาดรับซื้อ ชาวบ้านจึงปลูกกันไม่กี่ครัวเรือน และปลูกคนละ 30 - 50 ต้นเท่านั้น


ชาวบ้านเห็นว่าเมื่อปลูกกาแฟร่วมกับไม้อื่น ทำให้ป่าต้นน้ำกลับมามีน้ำอีกครั้ง และยังสามารถลดการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้ ทำให้ตอนนี้ไร่หมุนเวียนในพื้นที่ลดลง กลายเป็นป่าในรูปแบบวนเกษตรแทน



แต่หลังจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริม เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร และโครงการหลวงที่เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ ทั้งวิธีการปลูก การดูแลรักษา การตัดแต่งกิ่ง และการแปรรูป รวมถึงเริ่มมีตลาดรับซื้อแล้ว ชาวบ้านก็หันมาสนใจการปลูกกาแฟกันมากขึ้น เป็นการปลูกกาแฟแบบผสมผสานหรือการปลูกร่วมกับไม้อื่น ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในเรื่องของการไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชกาแฟอย่างเดียว ซึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน พื้นที่ทำกินไปทับพื้นที่ป่าต้นน้ำทำให้น้ำแห้ง ชาวบ้านเห็นว่าเมื่อปลูกกาแฟร่วมกับไม้อื่น ทำให้ป่าต้นน้ำกลับมามีน้ำอีกครั้ง และยังสามารถลดการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้ ทำให้ตอนนี้ไร่หมุนเวียนในพื้นที่ลดลง กลายเป็นป่าในรูปแบบวนเกษตรแทน และด้วยสภาพพื้นที่ปลูกกาแฟบ้านเลโคะส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา การปลูกกาแฟร่วมกับไม้อื่น จะช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดิน รวมถึงยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากหลายทาง เช่น บางสวนก็จะมีลูกเนียง ลิ้นจี่ และลำไยเป็นต้น ซึ่งเป็นรายได้เสริมเข้ามา ทำให้ในแต่ละปีชาวบ้านมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัว



ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันอย่างชัดเจนขึ้นคือสวนกาแฟของกำนันวินัย ซึ่งในสวนกาแฟของกำนันเต็มไปด้วยต้นกาแฟสายพันธุ์คาติมอร์ที่ปลูกร่วมอยู่กับไม้อื่น ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าว หมาก เนียง ลิ้นจี่ และลำไย นอกจากนี้ในสวนของกำนันยังเลี้ยงหมู ไก่ และปลาอีกด้วย ซึ่งเป็นการจัดสันปันส่วนในเรื่องของพื้นที่สวนกาแฟได้อย่างคุ้มค่า มีการจัดการดูแลสวนที่ดี กำนันวินัยเล่าให้ฟังว่า “ผมจะคอยตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ต้นสูงเกินไป ในส่วนของน้ำก็จะรอจากน้ำฝนอย่างเดียว เพราะในพื้นที่มีความชื้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพราะปลูกร่วมกับไม้อื่น ซึ่งใบของพืชอื่นมันก็จะทับถมกันเป็นปุ๋ย ผมก็นำเปลือกเชอร์รีกาแฟเอามาหมักเป็นปุ๋ยใส่ให้ต้นกาแฟ” ตอนแรกกำนันปลูกกาแฟอยู่ไร่เดียว หลังจากเห็นว่าผลผลิตดี และมีตลาดรับซื้อจึงขยายมาเป็น 14 ไร่ ซึ่งในปี 2563/64 ได้ผลผลิตกว่า 1,560 กิโลกรัม


ชาวบ้านเลโคะจะขายเป็นผลเชอร์รีและกาแฟกะลา การแปรรูปของชาวบ้านใช้วิธีการแปรรูปแบบเปียก มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟธรรมชาติบ้านเลโคะ


ชาวบ้านเลโคะจะขายเป็นผลเชอร์รีและกาแฟกะลา การแปรรูปของชาวบ้านใช้วิธีการแปรรูปแบบเปียก มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟธรรมชาติบ้านเลโคะ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2556 มีสมาชิกรวมกันทั้งหมด 50 คน ทางกลุ่มมีโรงสีกาแฟ แต่ก็ยังไม่มีตลาดที่จะเข้ามารับซื้อกาแฟสารของบ้านเลโคะ กาแฟของที่นี่จึงเป็นกาแฟที่กำลังรอการพิสูจน์ว่าจะสามารถพัฒนาเป็นกาแฟสารที่ดีและมีคุณภาพได้หรือไม่ในความสูงเพียง 600 – 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล



เราไปเห็นข้างนอกมาว่ากาแฟสามารถทำอย่างนี้ได้ ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เลยตั้งปณิธานกับตัวเองไว้เลยว่า จะกลับมาพัฒนากาแฟบ้านเลโคะให้ไปได้ไกลกว่านี้



แน่นอนว่าหากกาแฟอยู่เฉยๆ คงพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ โชคดีที่คุณดาร์ก หรือสรสิทธิ์ เพชรชลธี หนุ่มรุ่นใหม่ที่กระหายในเรื่องราวของกาแฟตั้งแต่ทำงานเป็นช่างศูนย์บริการซ่อมรถยนต์อยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นคนมีความสนใจและศึกษาในเรื่องของกาแฟมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วก่อนที่จะกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดของเขาเอง สวนกาแฟของดาร์กตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มจากคุณตาที่เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่นำกาแฟเข้ามาปลูก แต่ในตอนนั้นไม่ได้เอามาขาย เพราะปลูกไม่มาก ส่วนใหญ่จะเอาไว้ชงดื่มเอง หลังจากนั้นก็ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงรุ่นหลานอย่างดาร์กที่วันนี้มีพื้นที่ปลูกกาแฟอยู่ประมาณ 10 ไร่ เป็นสายพันธุ์คาติมอร์ และเบอร์บอน เป็นการปลูกใต้ร่มเงา เป็นกาแฟอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมี กาแฟของดาร์กถือว่าเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในหมู่บ้านที่ทำครบทุกขั้นตอนด้วยตัวเองตั้งแต่การปลูก แปรรูป คั่ว และการตีแบรนด์ที่มีชื่อว่า “ม่อนนายจอง” ซึ่งนายจองเป็นชื่อตาของดาร์ก นอกจากนี้ยังเปิดร้านกาแฟเล็กๆ อยู่ในหมู่บ้านชื่อว่า ณ ม่อนนายจอง เป็นร้านกาแฟที่นำเสนอกาแฟในรูปแบบของ Moka Pot ในส่วนของการแปรรูปนั้น ดาร์กเป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่ศึกษาและลงมือทำทั้งแบบ Dry Process และ Honey Process ดาร์กเล่าให้เราฟังว่า “ผมเห็นกาแฟมาตั้งแต่เด็กๆ พอกลับมาอยู่บ้านเพื่อที่จะทำความเข้าใจกาแฟให้มากขึ้น เพราะเราสนใจมันอยู่แล้ว กลับพบว่าชาวบ้านยังมีความเป็นอยู่แบบเดิม ยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าไหร่ กาแฟก็ยังอยู่กับที่ แปรรูปแบบเปียกอยู่ยังไงก็อยู่อย่างนั้น แล้วเราไปเห็นข้างนอกมาว่ากาแฟสามารถทำอย่างนี้ได้ ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เลยตั้งปณิธานกับตัวเองไว้เลยว่า จะกลับมาพัฒนากาแฟบ้านเลโคะให้ไปได้ไกลกว่านี้ เลยลองทำ Dry Process และ Honey Process ดู โดยเริ่มทำจากกาแฟของสวนตัวเองก่อน เพื่อให้มันออกมาเป็นรูปธรรม พอมันออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว เราก็จะไปช่วยรับซื้อกาแฟมาจากชาวบ้าน เพื่อให้เขามีรายได้ในครัวเรือนอีกด้วย”


นอกจากนี้ดาร์กยังมีแผนในการจะส่งกาแฟของบ้านเลโคะเข้าประกวดในปีหน้า เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการทำให้กาแฟของบ้านเลโคะไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ และในเชิงท่องเที่ยวก็อยากให้สวนกาแฟบ้านเลโคะกลายเป็นสวนต้นแบบ ดังนั้นสิ่งที่ดาร์กคิดและกำลังทำ จึงถือได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้กาแฟบ้านเลโคะเป็นที่ยอมรับและถูกพูดถึงมากขึ้นในอนาคต



แต่การขับเคลื่อนด้วยคนคนเดียวอาจจะใช้เวลาในการเห็นผลลัพธ์ที่นานขึ้น หากคนในชุมชนมีวิธีคิดที่อยากจะพัฒนาคุณภาพกาแฟของบ้านเลโคะให้ดีขึ้น เป้าหมายที่กาแฟบ้านเลโคะจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นและไปได้ไกลในความคิดของดาร์กก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งในบ้านเลโคะยังมีอีกหนึ่งคนที่เป็นคนผลักดันให้เยาวชนหันมาสนใจการปลูกกาแฟ โดยการสอนด้วยน้ำพักนำแรงและเงินทุนของตัวเองอย่างครูเคน บ้านเลโคะ หรือครูอดิศักดิ์ ปู่หล้า ครูชำนาญการพิเศษที่โรงเรียนบ้านเลโคะ พ่วงกับตำแหน่งเจ้าของร้านกาแฟ Café de Le (คาเฟ่ เดอ เล) ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คในหมู่บ้านเลโคะ เพราะร้านกาแฟของคุณครูสามารถมองเห็นดอยผาตั้งที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านบนได้อย่างเต็มตา ร้านของครูเคนเปิดมาได้ 1 ปีแล้ว ที่เลือกเปิดที่นี่เพราะว่า ตอนนี้ครูได้ย้ายภูมิลำเนามาเป็นเขยบ้านเลโคะอย่างเต็มตัว จึงอยากให้ร้านกาแฟแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คให้คนรู้จักบ้านเลโคะมากยิ่งขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือบ้านเลโคะเองก็เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของอำเภอสบเมย จึงอยากให้เป็นอีกจุดหนึ่งที่กระจายสินค้าให้กับเกษตรกร แล้วเพิ่มอาชีพหรือสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านด้วย


ถ้าเด็กรู้ในทุกกระบวนการ มูลค่าของกาแฟมันก็จะเพิ่มขึ้น แล้วเด็กก็จะเห็นคุณค่าของดีในชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลไปถึงอนาคตที่เด็กเหล่านี้ก็จะช่วยกันพัฒนากาแฟของบ้านเลโคะให้มันดีขึ้นไปกว่าตอนนี้ได้


นอกจากนี้ครูเคนยังซื้อสวนเล็กๆ เพื่อปลูกกาแฟสำหรับให้นักเรียนได้เข้าไปทำความรู้จักกับกาแฟมากขึ้น ครูเคนบอกถึงแนวคิดนี้ว่า “ร้านกาแฟเราไม่เชิงว่าทำเป็นธุรกิจ แต่จะเป็นในแนวของ Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคมมากกว่า เพราะอยากจะสร้างกิจกรรมให้กับสังคม เพราะเราเองก็เป็นข้าราชการ เราอยากจะทำสิ่งดีๆ คืนให้กับสังคมบ้าง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กสามารถไปเรียนรู้ และเห็นถึงกระบวนการ และขั้นตอนในการทำกาแฟในหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงเรียนรู้ในสวนกาแฟ เพราะว่าผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ก็ทำสวนกาแฟกันอยู่แล้ว แต่เด็กไม่ได้เรียนรู้ในจุดนั้นอย่างจริงจังหรือแบบครบขั้นตอน เนื่องจากบ้านเลโคะเองการทำกาแฟก็ยังไม่ครบทั้งกระบวนการ ทำถึงแค่เก็บกาแฟเชอร์รี และแปรรูปเป็นกาแฟกะลา ยังไม่มีกระบวนการคั่วหรือสร้างแบรนด์ได้อย่างชัดเจน เราอยากให้เด็กเรียนรู้ทุกกระบวนการขั้นตอน ตั้งแต่เก็บจากต้น แปรรูปในรูปแบบอื่นๆ นอกจากแบบ Washed process แล้วเข้าสู่กระบวนการคั่ว ไม่ว่าจะเป็นคั่วอ่อน คั่วกลาง และคั่วเข้ม เป็นต้น ถ้าเด็กรู้ในทุกกระบวนการ มูลค่าของกาแฟมันก็จะเพิ่มขึ้น แล้วเด็กก็จะเห็นคุณค่าของดีในชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลไปถึงอนาคตที่เด็กเหล่านี้ก็จะช่วยกันพัฒนากาแฟของบ้านเลโคะให้มันดีขึ้นไปกว่าตอนนี้ได้



ครูเคนจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการลงมือทำเพื่อพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งช่วยส่งผลในวงกว้างได้ การที่ชาวบ้านสามารถขายกาแฟหรือมีตลาดมารับซื้อนั้น แสดงให้เห็นว่าส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ชาวบ้านหันมาหวงแหนป่า เนื่องจากการปลูกกาแฟของชาวบ้านที่นี่ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียน กลับมาเป็นป่าอย่างเดิม ด้วยเหตุที่ชาวบ้านปลูกกาแฟร่วมกับพืชชนิดอื่นจนกลายเป็นป่าให้หมู่บ้าน และร่มเงาให้กาแฟ บ้านเลโคะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ทำให้เราเห็นว่าสามารถปลูกกาแฟพร้อมกับรักษาป่าได้ไปพร้อมกัน และด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่อยากจะพัฒนากาแฟบ้านเลโคะให้ดีขึ้นนั้น เป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นแบรนด์กาแฟจากบ้านเลโคะที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ชาวบ้านเองก็จะมีรายได้ที่มั่นคงและมีอาชีพที่ยั่งยืน สุดท้ายกาแฟบ้านเลโคะคงได้รับการพิสูจน์ว่ามีคุณภาพไม่แพ้กาแฟที่ไหนเป็นแน่


รับชมเรื่องราวของบ้านเลโคะได้ที่ : https://youtu.be/LTEXS6p7Sj8

883 views0 comments

Comments


bottom of page