top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

Baan Yodpai 🌱 บ้านยอดไผ่ หมู่บ้านที่กำลังรอการโพรเซสไปสู่กาแฟแก้วที่แสนกลมกล่อม

ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,200 เมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านยอดไผ่ หมู่บ้านเล็กๆ บนดอยสูง ที่ผูกพันและคลุกคลีกับป่าไม้อันเขียวชอุ่ม อย่างเช่นต้นกาแฟของที่นี่ก็เช่นเดียวกับคนในหมู่บ้าน ที่อยู่ร่วมกับผืนป่าและต้นไม้ใหญ่ เป็นต้นกาแฟที่ปลูกมานานมากกว่า 30 ปีแล้ว คุณสุพจน์ เมฆสวรรค์บำรุง พ่อหลวงของหมู่บ้านที่ควบทั้งตำแหน่งประธานวิสาหกิจชุมชนและผู้ใหญ่บ้านเล่าให้เราฟัง และหากจะเปรียบเทียบหมู่บ้านแห่งนี้เป็นกาแฟแล้วละก็ เราจะพาไปดูกาแฟของหมู่บ้านแห่งนี้ว่ามีจุดเริ่มต้นและกระบวนการอย่างไร กว่าจะมาเป็นวิสาหกิจชุมชนกาแฟยอดไผ่ ที่มีผลผลิตกาแฟที่ให้รสชาติลุ่มลึกละมุนลิ้น รอคอยให้เราไปลิ้มลอง



หมู่บ้านยอดไผ่ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อ 80 ปีที่แล้ว เดิมตั้งอยู่ที่หย่อมบ้านใหญ่ที่บ้านแม่หยอด แต่หลังจากเกิดโรคระบาดในคราวนั้น ที่ไม่ใช่คราวนี้ ทำให้ชาวบ้านอพยพไปยังหมู่บ้านเก่าที่อยู่เลยดอยที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบันนี้ออกไป หลังจากนั้นจึงย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน โดยอพยพกระจายกันออกไปเป็น 3 หย่อมบ้าน คือบ้านยอดไผ่ บ้านห้วยขี้เปอะ และบ้านน้ำตก โดยมีบ้านห้วยขี้เปอะเป็นหมู่บ้านหลัก


บ้านยอดไผ่จึงเป็นหนึ่งในหย่อมบ้านของบ้านห้วยขี้เปอะ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ฝั่งทิศตะวันตกติดกับทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่นักท่องเที่ยวชอบไปกางเต็นท์กลางทุ่งบัวตอง โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีแบบนี้ ฝั่งทิศตะวันออกติดกับบ้านแม่หยอดของตำบลแม่ศึก ฝั่งทิศใต้ติดกับบ้านแม่ลาจี ทิศเหนือติดกับอำเภอปางอุ๋ง ซึ่งถ้ามาจากถนนใหญ่ตรงอำเภอปางอุ๋ง เส้นเชียงใหม่ - ขุนยวม จากปากทางเลี้ยวเข้ามายังหมู่บ้านจะมีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านเป็นป่าดิบชื้น มีประชากรในหมู่บ้าน 170 กว่าคน รวม 25 หลังคาเรือน อาชีพส่วนใหญ่ก็จะเป็นการทำไร่ ทำสวน เช่น ข้าวโพด มันอาลูหรือมันฝรั่ง และกาแฟ


หลังจากเกิดวิกฤตกาแฟราคาตกต่ำ ทำให้หลายหมู่บ้านตัดต้นกาแฟทิ้ง

และปลูกพืชชนิดอื่นแทน แต่หมู่บ้านยอดไผ่ ปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่

ที่เป็นพื้นที่ป่าชุมชน เลยเอากาแฟให้คงไว้แบบนั้น ไม่ได้ตัดทิ้ง


พ่อหลวงเล่าถึงการเข้ามาของกาแฟว่ามาจากโครงการหลวงปางอุ๋ง หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณกว่า 30 ปีที่แล้ว ตอนที่พ่อหลวงยังเป็นละอ่อนน้อย หากอยากกินขนม คนเฒ่าคนแก่ก็จะให้ไปเก็บเชอร์รีกาแฟมาแลกกับขนม พ่อหลวงเลยสันนิษฐานเอาว่า น่าจะมีการนำกาแฟเข้ามาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ประกอบกับในสมัยก่อนมีการปลูกฝิ่น กาแฟจึงถูกนำเข้ามาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น เฉกเช่นเดียวกับหลายๆ หมู่บ้าน หลายๆ ดอย ที่มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนฝิ่น



“ในสมัยนั้น ทุกหมู่บ้านในเขตโครงการหลวง ก็จะมีการปลูกกาแฟเกือบทุกหมู่บ้าน แต่หลังจากเกิดวิกฤตกาแฟราคาตกต่ำ ทำให้หลายหมู่บ้านตัดต้นกาแฟทิ้ง และปลูกพืชชนิดอื่นแทน แต่หมู่บ้านยอดไผ่ ปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ที่เป็นพื้นที่ป่าชุมชน เลยเอากาแฟให้คงไว้แบบนั้น ไม่ได้ตัดทิ้ง


ส่วนใหญ่พื้นที่ปลูกกาแฟของหมู่บ้านจะปลูกอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่รอบๆ หมู่บ้าน บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ หรือตกครัวเรือนละ 20 - 30 ไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟที่เป็นทั้งเขตป่าชุมชนและในที่ดินทำกิน แต่ทั้งนี้ทางอุทยานฯ ในพื้นที่ก็ได้อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเขตป่าชุมชนได้ โดยมีระบบการรักษาป่าชุมชน คือไม่ให้มีการตัดไม้ในโซนที่เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านสามารถเข้าไปหาเห็ดหรือหาของป่าได้ แต่ต้องเป็นนอกพื้นที่ป่าเขตอนุรักษ์ฯ ซึ่งก็นับว่าเป็นการใช้สอยประโยชน์จากผืนป่าและดูแลป่าไม้ไปพร้อมๆ กัน


ปัจจุบันนี้ ต้นกาแฟอายุเก่าแก่จากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็ยังคงฝังรากลึกอยู่บนพื้นที่ในป่าชุมชน และชาวบ้านก็มีการนำต้นกาแฟที่มีอยู่เดิมไปขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยมีสายพันธุ์หลักๆ ที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกอยู่ที่บ้านยอดไผ่ก็คือสายพันธุ์ทิปิก้าและเบอร์บอน และยังมีสายพันธุ์อื่น ๆ อยู่บ้างประปราย ซึ่งนำเข้ามาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่


สายพันธุ์หลักๆ ที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกอยู่ที่บ้านยอดไผ่

ก็คือสายพันธุ์ทิปิก้าและเบอร์บอน 👨🏻‍🌾


“ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีมูลนิธิรักษ์ไทยในตัวจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาส่งเสริมการแปรรูปกาแฟในหมู่บ้าน โดยเอาเครื่องกะเทาะเปลือกกาแฟมาให้ เพราะที่นี่มีผลผลิตกาแฟจำนวนมาก มีการตั้งเป็นกลุ่มอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ มาจนกระทั่งปี 2562 เมื่อผมกลับมาอยู่ที่หมู่บ้าน ก็มีการพูดคุยกับคนในหมู่บ้านให้รวมกลุ่มกันจดเป็นกลุ่มวิสาหกิจฯ เพราะว่ามันจะสามารถต่อรองอำนาจกับพ่อค้าคนกลางได้ โดยเริ่มจากมีสมาชิกจำนวน 21 หลังคาเรือน และขยับมาเป็น 25 หลังคาเรือน


การจดวิสาหกิจชุมชน ตอนนี้เข้าปีที่ 3 ในเรื่องของการปันผลประโยชน์ของกลุ่มจะยังไม่มี เพราะที่ผ่านมาเราเจออุปสรรคมาเรื่อยๆ จึงยังไม่ได้มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ในเรื่องของการจัดสรรรายได้นั้น สมมุติว่าขายกาแฟกะลา 115 บาท จะหักเข้ากลุ่มประมาณ 3 บาท เพื่อเป็นส่วนกลาง ในกรณีที่เครื่องสีหรือว่าอุปกรณ์ต่างๆ เสียหาย ก็จะนำเงินในส่วนนี้ไปสำรองจ่ายก่อน ส่วนกำไรที่เหลือก็จะแบ่งให้กับคนในชุมชนต่อไป”



ที่นี่เมื่อถึงช่วงฤดูกาแฟ ก็จะมีการเอามื้อ คือการออกไปช่วยกันเก็บกาแฟ

จากนั้นก็จะนำมาสีกับเครื่องสีกาแฟของชุมชน หมักและตากในโรงตาก


ที่นี่เมื่อถึงช่วงฤดูกาแฟ ก็จะมีการเอามื้อ คือการออกไปช่วยกันเก็บกาแฟ จากนั้นก็จะนำมาสีกับเครื่องสีกาแฟของชุมชน หมักและตากในโรงตาก แต่เมื่อ 2 ปีก่อน โรงตากโดนฝนและพายุ ทำให้โรงตากพังเสียหาย และพ่อหลวงก็คาดการณ์ว่าผลผลิตปีนี้อาจจะไม่มากนัก ทำให้ยังไม่ได้ซ่อมแซมโรงตาก


เมื่อพื้นที่ตากและจำนวนผลผลิตดูจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยเท่าไรนัก ปีนี้ชาวบ้านจึงแยกย้ายกันเก็บแบบบ้านใครบ้านมัน ทำให้เราไม่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันแบบที่เรียกว่าเอามื้อ ที่ค่อนข้างหาดูได้ยากตามบ้านอื่นๆ


การคาดการณ์ว่าผลผลิตปีนี้จะไม่มากนักของพ่อหลวง น่าจะมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศค่อนข้างร้อนและแห้ง กาแฟก็เลยไม่ค่อยผลิดอกออกผล รวมถึงต้นกาแฟที่มีอายุหลายปีแล้ว และยังไม่ได้ทำสาว ประกอบกับสวนกาแฟในละแวกนี้โดนมอด ต้องตัดทิ้ง แต่เขาห้ามไม่ให้เผา จึงทำให้มีมอดลามเข้ามาในพื้นที่


การแปรรูปกาแฟของบ้านยอดไผ่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการแปรรูปแบบ Washed Process เป็นหลัก พ่อหลวงบอกว่าเนื่องจากการแปรรูปแบบ Dry Process ที่เคยลองทำ ปรากฏว่าดูแลค่อนข้างยาก เพราะต้องควบคุมความชื้นให้พอเหมาะ และเคยส่งไปขายเกือบ 3 ตัน แต่โดนตีกลับ เพราะปัญหาในเรื่องของความชื้น เพราะในชุมชนยังไม่มีเครื่องวัดความชื้น และด้วยประสบการณ์ในคราวนั้น ทำให้พ่อหลวงต้องหาแหล่งรับซื้อกาแฟหลายแหล่ง เพื่อกระจายกาแฟออกไป จนช่วงหลังๆ มานี้ คนในชุมชนจึงแบ่งกาแฟไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางบ้าง ส่งไปให้โครงการหลวงฯ บ้าง


“ตอนที่ผมไปเรียนทำโพรเซสกาแฟกับเขา ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของร้านกาแฟหมด แล้วเขาอยู่กรุงเทพ เขาเข้ามาดูในพื้นที่ เขาเอาไปคั่ว แล้วเขาก็ว่า เออ กาแฟตรงนี้ดี ปีนี้มีเท่าไหร่เขาเหมาหมด ทุกๆ ปี ก็จะมีคนจองหมด



นั่นเท่ากับแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตกาแฟของบ้านยอดไผ่น่าจะมีรสชาติหรือเสน่ห์อะไรบางอย่างที่ถูกตาต้องใจคนกาแฟอย่างแน่นอน วันนี้พ่อหลวงจึงเริ่มนำร่องด้วยการนำกาแฟของบ้านตัวเองมาคั่วและใช้ชื่อว่า “กาแฟยอดไผ่” มีทั้งแบบคั่วกลางและคั่วอ่อนตามแต่ลูกค้าจะสั่ง พ่อหลวงบอกว่าลูกค้าที่มาสั่งซื้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนทำงานออฟฟิศ จะสั่งซื้อทางออนไลน์


เขาเข้ามาดูในพื้นที่ เขาเอาไปคั่ว แล้วเขาก็ว่า เออ กาแฟตรงนี้ดี

ปีนี้มีเท่าไหร่เขาเหมาหมด ทุกๆ ปี ก็จะมีคนจองหมด


ถ้าพูดถึงความพิเศษและเสน่ห์ของกาแฟบ้านยอดไผ่แล้วนั้น พ่อหลวงบอกว่าจะมีกลิ่นหอม มีความเป็นผลไม้ค่อนข้างสูง เป็นกาแฟอินทรีย์ ไม่ได้มีการใช้สารเคมี และที่สำคัญยังเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากสมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย (SCATH) ปี 2016 ในระบบการแปรรูปแบบ Washed Process มาแล้ว


แม้จะเจออุปสรรคปัญหามากมาย แต่พ่อหลวงก็ยังคงมีปณิธานมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานกาแฟให้ดียิ่งขึ้น เพื่อดึงคนจากนอกพื้นที่เข้ามาชิมกาแฟของบ้านยอดไผ่ โดยมีแผนจะทำสาวให้กับต้นกาแฟ ซ่อมแซมโรงตาก แปรรูปแบบDry Process และทดลองทำโพรเซสแบบอื่นเพิ่มเติมอย่าง Honey Process


ในอนาคตที่บ้านยอดไผ่จะมีที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่มีวิวระดับล้าน แต่ราคาระดับร้อย เอาไว้ให้นักเดินทาง และคนกาแฟได้เข้ามาเที่ยวที่บ้านยอดไผ่แห่งนี้ เพราะทุกวันนี้ก็มักจะมีรถวิบากวิ่งผ่านเข้ามาตลอด ที่นี่จึงสามารถทำเป็นจุดพักรถ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแวะพักดื่มกาแฟได้อย่างดีทีเดียว



“ก็อยากให้เขามาชิมด้วยตัวเอง มาพักผ่อน มาชิมกาแฟ แล้วก็เอาบรรยากาศ อยากให้คนที่หาเวลาพักผ่อน มาพักผ่อนแล้วก็มาผ่อนคลาย เข้ามาชิมกาแฟ มันอาจจะได้อารมณ์มากกว่าจะมาเพื่อท่องเที่ยวอย่างเดียว เพราะที่นี่อาจไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่จะดึงดูดคนเข้ามา แต่อยากให้เข้ามาชิมกาแฟ มาพักผ่อนอย่างนี้มากกว่า”


แม้หมู่บ้านยอดไผ่จะเป็นหมู่บ้านธรรมดา ที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากนัก แต่จากคำเชิญของพ่อหลวงแห่งหมู่บ้านยอดไผ่ ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า หมู่บ้านแห่งนี้พร้อมอ้าแขนรับแขกผู้มาเยือนที่อยากจะมาลิ้มลองกาแฟ มาพักผ่อน มาดื่มด่ำกับธรรมชาติ ท่ามกลางไร่กาแฟและขุนเขา ซึ่งหากเปรียบเทียบหมู่บ้านแห่งนี้เป็นกาแฟแล้วละก็ บ้านยอดไผ่ก็คงเป็นกาแฟที่กำลังรอการโพรเซส โดยชักชวนให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการโพรเซสครั้งนี้ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกาแฟไปสู่กาแฟแก้วที่แสนกลมกล่อมเปี่ยมไปด้วยคุณภาพต่อไป


//บทความย้อนหลัง ใน Coffee Traveler issue 55//

 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler

169 views0 comments

Comments


bottom of page