CC 1971 Café – Pakse
- coffeetravelermag
- Mar 27
- 2 min read

CC 1971 Café คาเฟ่เปิดใหม่แห่งเมืองปากเซ ที่เกิดจากการนำบ้านร้างมาดัดแปลงให้เป็นร้านกาแฟ โดยคงสภาพเดิมของตัวตึกเอาไว้ทุกประการ ภายใต้ธีม ‘คาเฟ่ผีสิง’ ด้วยแนวคิดการออกแบบของคุณศร (ศรชัย ดาดดารา) นักธุรกิจหนุ่มชาวลาว ที่ต้องการสร้างพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถจิบกาแฟ พร้อมย้อนเวลาไปยังอดีต ในสมัยที่ประเทศลาวถูกปกครองด้วยประเทศฝรั่งเศส ภายใต้อาคารหลังเก่าที่มีอายุกว่า 90 ปี ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของเมืองปากเซนี้
“ผมเป็นรองประธานสมาคมนักธุรกิจหนุ่มของลาว ที่อยู่ในกลุ่มแวดวงนักธุรกิจ ซึ่งบางครั้งเราก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน และเกิดความคิดว่าอยากสร้างธุรกิจของกลุ่มขึ้นมา เพราะทุกคนต่างก็มีธุรกิจส่วนตัว จึงมีความคิดที่อยากจะนำมาเงินมาลงทุนทำธุรกิจของกลุ่มขึ้น ก็เลยดึงแบรนด์ของสหกรณ์ที่ปากซอง ซึ่งเป็นสหกรณ์เกษตรที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ และเขาก็ทำร้านอยู่ ซึ่งก็คือร้าน CC1971 ปากซอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ร้านกาแฟระเบิด’ มาทำ ตอนนั้นผมคิดว่า ทำร้านกาแฟเป็นแบรนด์ของลาวเองจะดีกว่า เพราะประเทศลาวก็ทำกาแฟอยู่แล้วเพื่อนเราก็ทำกาแฟอยู่แล้ว เราก็เอาตัวนี้มาทำเป็นแบรนด์ของเราดีไหม ประกอบกับก่อนหน้านี้มีคนแนะนำตึกนี้ให้ผมอยู่แล้ว ผมจึงเอาความคิดนี้ไปรวมกับความคิดเรื่องตึก จนเกิดเป็นร้านนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นเหมือนอีกสาขาหนึ่งของร้าน CC 1971 ที่เมืองปากซอง C ตัวแรกมาจาก Cooperative ที่หมายถึง สหกรณ์ C ตัวที่ 2 คือ Coffee และ 1971 คือปีที่มีการปลดปล่อยอิสรภาพจากฝรั่งเศสของเมืองปากซอง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของกาแฟลาว นี้คือที่มาของชื่อ”
จากความตั้งใจที่อยากสร้างธุรกิจของกลุ่ม นำไปสู่การสร้างคาเฟ่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยอาศัยรูปลักษณ์และเรื่องราวเป็นตัวชูโรง รวมถึงความมหัศจรรย์ของตัวตึก ที่แม้จะผ่านกาลเวลามาเกือบ 100 ปีแล้ว แต่โครงสร้างยังคงแข็งแรงและสวยงาม ไม่มีร่องรอยของการทรุดของตัวตึกแม้แต่น้อย

“ตึกนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาว เป็นตึกที่อยู่คู่เมืองปากเซมานานมาก และเพราะแบบนี้มันถึงโดนใจผม เพราะผมไม่อยากทำร้านกาแฟทั่วไป แต่อยากทำร้านที่มันมีเรื่องราวที่น่าสนใจ และเพราะตึกนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงที่ประเทศลาวเป็นหัวเมืองขึ้นของฝรั่งเศส รูปแบบบ้านนี้จึงเป็นสไตล์ฝรั่งเศสสังเกตว่าฝาผนังจะทำเท่ากับคาน มีขนาด 25 – 30 เซนติเมตร แล้วสร้างสูงถึง 3 ชั้น เท่าที่ผมลองสืบดู คิดว่าน่าจะสร้างราว ๆ ปี 1930 แถวนั้น ๆ ตอนนี้ปี 2024 ก็ 90 กว่าปีล่ะ แต่โครงสร้างยังดีและแข็งแรงมาก แล้วก็ทำได้มุมที่ดีมาก ๆ อากาศถ่ายเท เย็นสบายทั้งวัน อยู่ติดแม่น้ำ จึงสามารถเดินได้รอบบ้านแบบไม่อึดอัด แถมยังอยู่ใกล้กับที่มาของคำว่าปากเซด้วย”
คุณศรเล่าต่อไปว่า เดิมแล้วปากเซเป็นชุมชนประมงน้ำจืดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่บริเวณปากน้ำเซโดนบรรจบกับน้ำแม่โขง โดยชื่อปากเซ ถูกเรียกตามชื่อปากน้ำว่า ปากเซโดน และจากการเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินบริเวณปากน้ำเซโดนมาบรรจบแม่น้ำโขง จึงทำให้เมืองปากเซเป็นทำเลที่เหมาะสมทั้งทางด้านเพาะปลูกการประมง และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางน้ำ และทางบก และด้วยความที่อยู่ใกล้กับจุดที่กล่าวมานี้ จึงทำให้พอขึ้นไปชั้นดาดฟ้าของร้าน เราก็จะสามารถมองเห็นจุดที่แม่น้ำทั้งสองมาบรรจบกันชัดเจน นับว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมต่อการทำจิบกาแฟ พร้อมกับซึมซับเรื่องราวทางปะวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
“ย่านนี้เป็นย่านที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า อย่างสะพานตรงนั้น เมื่อก่อนสะพานมันไม่ได้เป็นแบบนี้นะ มันจะเป็นสะพานเหล็กแคบ ๆ ที่ชาวฝรั่งเศสมาสร้างเอาไว้ มีรูปอยู่ถ้าใครอยากเห็นก็สามารถมาดูได้ สะพานอันนี้เป็นสะพานใหม่ที่พึ่งสร้างแทนอันเก่าได้ไม่ถึง 10 ปี ซึ่งเมื่อ 40 ปีก่อน ตอนที่ผมยังเด็ก จุดนี้เป็นจุดที่มีไฟแดงครั้งแรกของปากเซ เพราะสะพานเก่ามันแคบ มันเป็น One Way เวลาทางหนึ่งไป อีกทางหนึ่งต้องหยุด คือมันขับรถสวนกันไม่ได้เหมือนสะพานปัจจุบัน เพราะมันกว้างแค่ 3 - 4 เมตรเอง ส่วนตึกนี้ก็สร้างขึ้นมาก่อนที่ฝรั่งเศสจะสร้างสะพานนั้นอีก มันก็เลยเต็มไปประวัติศาสตร์และเรื่องเล่า ผมเคยไปถามแม่ป้าข้างบ้านที่อายุเกือบ 80 ปี เขาบอกว่าเกิดมาก็เห็นแล้ว ตอนเด็ก ๆ ยังมาวิ่งเล่นอยู่แถวนี้เลย แสดงว่าตึกนี้อยู่มานานกว่าเขาอีก
เพราะแบบนั้นเราจึงอยากทำคาเฟ่ที่ชูเรื่องบ้านที่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของเมืองปากเซ เพื่อพาทุกคนย้อนอดีตไปในยุคสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง เพราะทำเลแถวนี้มันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์จริง ๆ ทั้งตึกเก่า สะพานเก่า แล้วยังอยู่ใกล้จุดที่เป็นเหมือนที่มาของชื่อปากเซ นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้ย่านที่มีชุมชนคนเวียดนามเก่าที่อพยพมาตั้งแต่สมัยสงคราม ผมว่าเรื่องเล่านี้แหละที่ทำให้คาเฟ่เราน่าสนใจ”
ไม่เพียงแต่บริเวณที่อยู่รอบ ๆ เท่านั้น แม้แต่ตัวตึกเองก็มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กันจนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งประวัติศาสตร์ของเมืองปากเซเลยก็ว่าได้
“คนที่สร้างบ้านหลังนี้ ไม่รู้แน่ชัดว่าใคร แต่ถ้าดูจากการที่บ้านหลังใหญ่ขนาดนี้ คนธรรมดาสร้างได้ไม่ได้แน่ รู้แค่ว่าเขาเป็นคนเวียดนามที่มาอยู่ที่นี่สมัยฝรั่งเศสปกครอง ก่อนจะทิ้งที่นี่ไปอยู่อเมริกา ตึกนี้จึงตกเป็นสมบัติของรัฐ ผ่านไปหลายสิบปี รัฐก็ขายทอดตลาดให้บุคคล แล้วก็มีการซื้อขายกันไปเรื่อย ๆ สัก 2 - 3 ทอดนี้แหละ แล้วทีนี้ไม่รู้ว่าเป็นมาอย่างไร ลูกหลานของคนสร้างเขาก็กลับมาซื้อตึกนี้คืน แต่เขาไม่ได้เอาไปทำอะไรนะ แค่เหมือนมาเอาสมบัติของบรรพบุรุษเขาคืนแต่ตลอดเวลาที่มีการเปลี่ยนมือ บ้านหลังนี้ก็ร้างมาโดยตลอด ไม่มีใครมาอยู่ ไม่มีใครมาทำอะไรกับมันเลย ผ่านมา 50 ปี มันก็ยังอยู่เป็นตึกร้างอยู่แบบนี้ จนคนปากเซรู้กันว่าตึกสามชั้นฝั่งท่าหิน จะมีชื่อเล่นอีกอย่างว่า ‘ตึกผีสิง’ และนั่นก็คือที่มาของคอนเซ็ปต์ ‘ร้านผีสิงปากเซ’ นั่นเอง
มันมีเรื่องเล่าเยอะเลย ที่ทำให้ตึกนี้กลายเป็นตึกผีสิง อย่างผู้เฒ่าผู้แก่แถวนี้ เขาเล่าว่าเคยมีคนเข้ามานอนที่นี่ ตอนแรกนอนอยู่ชั้น 3 ตื่นมาอีกทีอยู่ชั้นล่าง คือทุกครั้งที่ขึ้นมานอนข้างบนคนเดียว ตื่นเช้ามาจะอยู่ข้างล่างตลอด พอหลายครั้งเข้าเขาก็เลยไม่กล้ามานอนอีก แต่ข้อดีของการมีเรื่องเล่าแบบนี้ คือการที่คนจะไม่กล้ามาทำอะไรตึกนี้ ไม่อย่างนั้นผ่านมาตั้งเกือบ 100 ปี มันคงไม่เหลือแม้แต่เหล็กเส้นเดียวแล้วล่ะ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่มันยังตั้งตระหง่านอยู่ตรงนี้ ก็เพราะคนเขาไม่กล้าทุบมันนี้แหละ แต่ตั้งแต่ผมมาอยู่ผมก็เจออะไรนะ มีแต่คนอื่นเขาเล่าให้ฟัง คงเพราะผมไม่ได้มีเจตนาไม่ดีด้วยมั้ง เขาเลยไม่ทำอะไรผม”
เรื่องเล่าและปริศนา คือเสน่ห์ของร้าน CC 1971 Café แห่งเมืองปากเซ แต่กว่าที่ร้านกาแฟแห่งนี้จะเปิดขึ้นมาได้ คุณศร ก็ต้องพบกับโจทย์ที่ต้องหาทางแก้ไข เพื่อคว้าทำเลทองแห่งนี้ มาทำร้านกาแฟในฝันให้ได้
“เจ้าของเขาย้ำว่าจะไม่มีการทำลายโครงสร้างเดิม หรือปรับเปลี่ยนอะไรมากใช่ไหมเราก็รับปากว่าจะไม่ทำแบบนั้น เราจะทำแบบเดิม แต่จะทำให้มันสะอาดขึ้น เขาถึงโอเค ซึ่งเขาก็มาดูนะ และเขาก็ชอบมากด้วย คือที่เห็นเป็นร้านแบบนี้ จริง ๆ เราไม่มีการไปเปลี่ยนวัสดุหรือโครงสร้างเดิมของตึกเลย เมื่อ 90 ปีก่อน เป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังรักษาโครงสร้างเดิมเอาไว้แบบนั้น แค่ทำให้มันสะอาดขึ้น อย่างฝาผนังเคยมีอย่างไงก็ให้มันคงเดิมอย่างนั้น หรือที่เป็นขอบหน้าต่างหรือส่วนประกอบอื่น ๆ มันก็อยู่แบบนี้มา 90 กว่าปีแล้ว
โดยที่เราไม่ได้ไปเปลี่ยนมัน กระเบื้องที่พื้นก็เป็นของเก่ามาตั้งแต่ 90 ปีก่อน จริง ๆ ตอนมาใหม่ ๆ กระเบื้องชั้นล่างทรุดโทรมไปประมาณ 40% แล้ว เราจึงต้องให้ช่างแกะกระเบื้องทั้งหมดออกอย่างระมัดระวัง เพื่อเอามาบูรณะทำความสะอาด แล้วค่อยเอากลับลงไปปูใหม่ ทำให้เราต้องเสียค่าช่างไป 3 เท่า เพราะถ้าแค่ซื้อกระเบื้องมาติดใหม่เลย เขาก็จะคิดแค่ค่าติดกระเบื้อง แต่เพราะต้องทั้งแกะ ทั้งบำรุงรักษา แล้วยังนำไปติดที่เดิมอีก เราก็เลยโดนค่าช่างไป 3 เท่า แต่เราก็ต้องยอม เพราะเราอยากรักษาของเดิมจริง ๆ แต่มันก็คุ้มค่า เพราะเจ้าของบ้านเขาดีใจมากที่เราพยายามรักษาของเดิมเอาไว้แบบนี้ และการที่มันคงทนมาได้ถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าช่างสมัยก่อนเขาเก่งมาก เขาสร้างได้แข็งแรงมาก ๆ ขนาดผ่านมาเกือบ 100 ปีแล้ว แต่โครงสร้างก็ไม่มีการทรุดเลย ”
เรียกได้ว่าเป็นคาเฟ่สุดอาร์ตที่ปากเซ ที่ให้ฟีลเหมือนอยู่ในยุคเก่า พร้อมบรรยากาศสุดอบอุ่น และเครื่องดื่มที่น่าลิ้มลอง โดยเฉพาะอเมริกาโน ที่สกัดมาจากเมล็ดกาแฟจากปากซอง หรือเมนูพิเศษอย่าง กาแฟขี้ชะมด ที่ให้รสสัมผัสของผลไม้ มีความเบอร์รี หวานอมเปรี้ยว แน่นอนว่าที่นี่ไม่ได้มีแค่กาแฟเท่านั้น แต่ยังมีเมนู Non Coffee รวมถึงผงไม้ ของฝาก และสินค้าอื่น ๆ จากกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ที่นำมาฝากขายอีกด้วย
" เพราะแบบนั้นเราจึงอยากทำคาเฟ่ที่ชูเรื่องบ้านที่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของเมืองปากเซ เพื่อพาทุกคนย้อนอดีตไปในยุคสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง "

Contributor
ศร (ศรชัย ดาดดารา)
คุณศร รองประธานสมาคมนักธุรกิจหนุ่ม ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเหล่านักธรกิจหนุ่มในประเทศลาว ที่ตัดสินใจมาทำร้าน CC 1971 Café – Pakse ด้วยความคิดของกลุ่มที่อยากจะนำมาเงินมาลงทุนทำธุรกิจของกลุ่มขึ้น โดยคุณศรเล่าว่า ความคิดนี้เกิดขึ้นมาเมื่อ 7 ปีก่อน แต่เพิ่งทำคาเฟ่สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างในปีนี้ โดยตึกนี้คุณศรได้คำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่ง ส่วนชื่อแบรนด์ CC1971 ก็เป็นการดึงชื่อแบรนด์ของร้านที่ปากซองมาทำซึ่งร้านนั้นเป็นแบรนด์สหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกาแฟอยู่แล้ว ก็เลยเกิดความคิดว่าถ้าทำร้านกาแฟเป็นแบรนด์ของลาวเองจะดีกว่า เพราะประเทศลาวก็ทำกาแฟอยู่แล้ว ก่อนจะเอาความคิดนี้ไปรวมกับความคิดเรื่องสถานที่ซึ่งก็ตึกร้างปากเซ จนเกิดเป็นร้านนี้ขึ้นมา
---------
ร้าน : CC 1971 Café – Pakse
นักออกแบบ : คุณศร (ศรชัย ดาดดารา)
พิกัดร้าน : ฝั่งท่าหิน ปากเซ ลาวใต้
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comentários