การแปรรูปกาแฟ (Coffee Processing) ถือเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการแปรรูปที่มีเรื่องของการหมัก (Fermentation) เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งจำเป็นที่จะต้องควบคุมอุณหภูมิ และความเป็นกรดด่างในถังหมัก รวมถึงระยะเวลาและอาศัยตัวแปรอื่น ๆ เช่น ยีสต์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั้งในอากาศและบริเวณผลกาแฟเข้ามามีส่วนช่วยทำให้เกิดกลิ่นรสในกาแฟ ซึ่งหนึ่งในเทคนิคของการหมักกาแฟต้องยกรางวัลให้กับ Sasa Sestic ที่เป็นผู้บุกเบิกในการนำวิธีหมักไวน์ที่เรียกว่า Carbonic Maceration มาประยุกต์ใช้ในการโพรเซสกาแฟเป็นคนแรกของโลกในปี 2015 โดยใช้เทคนิคการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปแทนก๊าซออกซิเจนที่อยู่ภายในถังหมักเชอร์รี ซึ่งช่วยทำให้เมล็ดกาแฟมีความหวาน และลดกรดเปรี้ยว รวมถึงเกิดความสมดุลมากขึ้นจนมีกลิ่นรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนั้นเทคนิคการหมักแบบ Anaerobic จึงกลายมาเป็นดาวรุ่งในการช่วยยกระดับรสชาติกาแฟไปโดยปริยาย และทำให้เหล่านักดื่มต่อแถวรอชิมไปตาม ๆ กัน
ปัจจุบันนักแปรรูปกาแฟได้พยายามพัฒนาวิธีการโพรเซสในหลาย ๆ วิธี เพื่อดึงคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นของกาแฟในแต่ละพื้นที่ออกมา และต้องการกลิ่นรสที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยวิถีธรรมชาติในหลาย ๆ วิธี เช่น การคัดเลือกยีสต์ที่แข็งแรงเพื่อเป็นจุลินทรีย์ตัวหลักในการทำหน้าที่สร้างกลิ่นรสให้กับกาแฟ โดยอาศัยการควบคุมสภาวะแวดล้อมภายให้เหมาะสมกับยีสต์ตัวนั้น ๆ นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา เวที World Barista Championship 2021 ที่จัดขึ้นณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ได้มีศัพท์แปลกสะเทือนวงการเข้ามาอีกหนึ่งโพรเซสคือ Koji-Fermented Coffee หรือ Koji Supernatural Process โดยมีบาริสต้ารุ่นใหญ่ Kaapo Paavolinen ตัวแทนจากประเทศฟินแลนด์ ได้นำการโพรเซสน้องใหม่มานำเสนอในการแข่งขันครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้เข้ารอบ Semi-final แต่ก็ได้กระแสตอบรับที่ดีและสร้างคลื่นลูกแรกให้คนในแวดวงกาแฟหันมาสนใจวิธีการแปรรูปแบบใหม่นี้มากขึ้น และแน่นอนว่า Koji-Fermented Coffee จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากขาดกำลังหลักในการร่วมพัฒนาโพรเซสนี้ขึ้นมาอย่าง Elias Montenegro หัวหน้าฝ่ายแปรรูปที่ El Vergel Estate ในโคลอมเบีย และ Koichi Higuchi จากบริษัท Higuchi Matsunosuke Shoten ซึ่งบริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ผลิต Koji starter รายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น
Koji (โคจิ) เป็นราดีสายพันธุ์ Aspergillus oryzae ที่สามารถทำได้จากข้าวหรือข้าวบาร์เลย์ และถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งในการเพาะเลี้ยงโคจิจำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอย่างเหมาะสมเพื่อให้เชื้อราเติบโตเต็มที่ และได้สปอร์โคจิ หรือ Koji Starter ซึ่งสามารถนำไปเป็นหัวเชื้อสำหรับใช้หมักอาหาร เช่น สาเก มิโซะ ซอสถั่วเหลือง มิริน และน้ำส้มสายชู โคจิจึงมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน จนทำให้ Brewing Society of Japan ประกาศให้โคจิเป็น “เชื้อราแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น (National Fungi of Japan)” ในปี 2006 อีกด้วยโดยการหมักโคจิมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความสามารถในการเปลี่ยนสารตั้งต้นที่แตกต่างจากยีสต์ตัวอื่น ซึ่งจะผลิตอัตราส่วนที่แตกต่างกันของกรดอะมิโน เช่น กลูตาเมตและเอ็นไซม์อะไมเลส ทำให้สามารถเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโคจิจึงช่วยให้น้ำตาลถูกใช้มากขึ้นในขั้นต้นของการหมักเชอร์รีกาแฟ ซึ่งส่งผลให้รสชาติที่ซับซ้อนของกาแฟที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วมี Body และ Aftertaste เพิ่มขึ้นไปอีกระดับอย่างไรก็ตามอัตราการผลิตจะขึ้นอยู่กับสภาวะของการหมัก ซึ่งมีเรื่องของการตื่นตัวของโคจิและอุณหภูมิเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น Koji MSCO-11 ที่ใช้ในการทดลอง(ผลิตและจำหน่ายโดย Higuchi Matsunosuke Shoten) จะมีการปรับระหว่างการผลิตเอ็นไซม์อะไมเลสที่สูงขึ้นในอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นและการผลิตกรดอะมิโนที่สูงขึ้น ณ ช่วงอุณหภูมิต่ำลง โดยครั้งแรกของการทดลองนั้นได้ใช้กาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ Red Bourbon ด้วยวิธี Koji-fermented Natural และเปรียบเทียบกับ Natural process แบบเดิม จากนั้นส่งผลการทดสอบไปยังประเทญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ พบว่าการโพรเซสโดยใช้โคจิทำคะแนนได้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้ Body และ Aftertaste มากขึ้น รวมถึงเรื่องกลิ่นรสก็ดีขึ้นไม่แพ้กันอีกด้วย หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองขั้นแรกแล้ว จึงเริ่มใช้โคจิกับสายพันธุ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Geisha, Bourbon, Caturra, และ Java ซึ่งในแต่ละสายพันธุ์มีผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดี แต่สายพันธุ์ Java สามารถตอบสนองกับโคจิได้ดีเป็นพิเศษกว่าสายพันธุ์อื่นข้างต้น
หลักจากนำเชอร์รีใส่ถังแล้วนำขึ้นชั่ง ซึ่งการหมักจะใช้ Koji Starter หรือสปอร์โคจิ 1 กรัม ต่อเชอร์รี 1 กิโลกรัม จากนั้นนำไม้พายที่สะอาดผสมกองเชอร์รีในถังอย่างเบามือ เพื่อให้สปอร์กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ก่อนปิดฝาจำเป็นที่จะต้องบันทึกวันที่ เวลา อุณหภูมิแวดล้อม และอุณหภูมิเริ่มต้นของเชอร์รี หลังจากนั้นตรวจสอบอุณหภูมิของเชอร์รีด้วย Probe Thermometer ทุก 6 ชั่วโมง พร้อมบันทึกวันที่ เวลา อุณหภูมิแวดล้อม และอุณหภูมิเชอร์รี ซึ่งอุณหภูมิภายในถังหมักควรอยู่ที่ 25 - 30°C (สปอร์โคจิชอบสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และการหมักโดยใช้โคจิทำให้เกิดความร้อนจำนวนมาก หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นควรย้ายถังหมักไปไว้ในที่ที่เย็นกว่า) รวมทั้งต้องคนในถังหมักอย่างน้อยทุก ๆ 12 ชั่วโมง และสังเกตกลิ่นขณะนั้นด้วย โดยระยะเวลาตั้งแต่ 24 - 36 ชั่วโมงหลังจากเริ่มการหมัก สปอร์โคจิจะเกิดการย่อยสลายโพลีแซคคาไรด์และเพคติน รวมทั้งผลิตกรดอะมิโนที่จะส่งผลให้กาแฟมี Acidity และ Body มากกว่าปกติ ดังนั้นในช่วงเวลานี้สปอร์โคจิควรจะเติบโตและปกปิดผิวด้านนอกของเชอร์รีทั้งหมด ซึ่งจะมีลักษณะเป็นฝอยสีขาวและควรมีกลิ่น Tropical (กลิ่นผลไม้เขตร้อน) อย่างชัดเจน เมื่อได้ตามนี้แล้วแล้วถือเป็นจุดสิ้นสุดการหมัก และเข้าสู่ขั้นตอนของการตาก
ในการตากนั้นใช้หลักการทั่วไป โดยใช้เวลาตากเชอร์รี 20 - 30 วัน ซึ่งจะตากบนแคร่ตากที่ยกสูงจากพื้นเพื่อให้อากาศถ่ายเท หรือตากในโรงตากกาแฟ และใช้แสลนกันแดดเพื่อป้องกันไม่ให้กาแฟได้รับความร้อนที่สูงเกินไป รวมถึงในตอนกลางคืนจำเป็นที่จะต้องคลุมกาแฟเพื่อไม่ให้เกิดความชื้นเพิ่มขึ้นอีกด้วย หากความชื้นบนลานตากสูงขึ้นควรใช้พัดลม เพื่อให้อากาศที่หมุนเวียนเป็นเหมือนตัวเร่งกระบวนการทำให้แห้งโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มอุณหภูมิ และยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำค้างสะสมบนเชอร์รีในตอนกลางคืนได้อีกด้วย เมื่อกาแฟมีความชื้นที่ 16 - 20% ให้เริ่มเก็บเชอร์รีในตอนกลางคืน จากนั้นหากยังไม่ทำการสีในทันทีควรเก็บเชอร์รีที่แห้งไว้ในถุง GrainPro หรือ Ecotact ที่สะอาดและปิดแน่น (หากไม่มีสามารถเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทได้เช่นกัน) นอกจากนี้ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20°C ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 50 - 60 % จะเป็นการดีต่อเชอร์รีแห้งอย่างมาก
เรียกได้ว่าชวนนึกภาพตามได้ตั้งแต่ขั้นตอนการหมักไปจนถึงขั้นตอนการตากเลยทีเดียว แน่นอนว่า Koji Starter มีราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ทีมวิจัยจำเป็นที่จะต้องร่วมกันพัฒนาเพิ่มเติมต่อไปในเรื่องของการสร้างวิธีการปลูกสปอร์โคจิให้ได้ในราคาที่เกษตรกรสามารถเอื้อมถึงมากขึ้น รวมถึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมสำหรับการทดลองกับสายพันธุ์อื่น ๆ และสำรวจศักยภาพของการหมักโคจิอย่างเต็มที่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Koji-Fermented Coffee ยังคงแพร่หลายในฟาร์มเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่เป็นผู้ผลิตกาแฟ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงคุ้นชินกับวิธีการโพรเซสแบบเดิม และความต้องการของผู้บริโภคสำหรับกาแฟโคจิยังมีน้อยมาก ดังนั้นทางทีมวิจัยหวังว่า Koji จะกลายเป็นส่วนผสมที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับการนำมาใช้หมักกาแฟเพื่อเป็นตัวช่วยในการดึงอัตลักษณ์ของกาแฟออกมาให้ได้มากที่สุด สุดท้ายนี้ขอปิดบทความด้วยความคิดเห็นของ Christopher Feran หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาวิธีการทำโพรเซสครั้งนี้ "เราต้องการจะผลิตกาแฟที่นำเอาทุกสิ่งที่เรารักเกี่ยวกับกาแฟมารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งไม่ได้เป็นแผนของการสร้างโปรไฟล์ใหม่ เราพยายามยกระดับกาแฟที่พิเศษอยู่แล้วให้ยิ่งพิเศษมากขึ้น และต้องการสร้างกระบวนการแปรรูปที่สามารถใช้น้ำน้อยลง แต่ยังสามารถลิ้มรสกลิ่นอายของความเป็น Washed coffee อย่างที่เราชื่นชอบได้"
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comments