top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

Laurina Coffee หนึ่งในสายพันธุ์เก่าแก่หายากที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากโลก


เครดิตภาพ www'alexandermills.ca ความหอมกรุ่นอันเป็นเอกลักษณ์และรสชาติที่โดดเด่นของกาแฟ คือเสน่ห์เย้ายวนใจให้ใครต่อใครหลายคนหลงใหลและชื่นชอบกาแฟอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก กาแฟจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทุกชนชั้นไม่มีแบ่งเชื้อชาติ และเชื่อว่าความเป็นกาแฟจะต้องไปถึงทุกพื้นที่แน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่ากาแฟที่มนุษย์ใช้ดื่มกันทุกวัน มีแยกย่อยสายพันธุ์ต่างกันไป และแต่ละสายพันธุ์กาแฟก็มีรายละเอียดที่เฉพาะตัว เฉพาะสายพันธุ์ของใครของมันอีกด้วย


เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้บริโภคกาแฟส่วนใหญ่นั้น หลงใหลในฤทธิ์คาเฟอีนและรสชาติของกาแฟ แต่บางส่วนก็ชอบเพียงแค่รสชาติ ไม่ชอบคาเฟอีนหรือไม่หวังผลจากฤทธิ์กระตุ้น จึงทำให้เลือกดื่ม Decaf Coffee หรือกาแฟที่มีคาเฟอีนต่ำ ซึ่ง Decaf เกิดจากการสกัดคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟโดยใช้น้ำและสารละลายหลายขั้นตอน ทำให้มีปริมาณคาเฟอีนน้อย เพียง 0 – 3 % ต่อกาแฟหนึ่งถ้วย โดยคาเฟอีนจะถูกชะล้างออกไปได้มากถึง 97 % ขึ้นไป เมื่อดื่มกาแฟเข้าไปจะให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนดื่มกาแฟ แต่จะมีสัมผัสเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แตกต่างออกไปบ้าง หากไม่ได้สนใจรายละเอียด ซึ่งก็แทบจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้เลย แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกาแฟที่มีปริมาณคาเฟอีนน้อยและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่เหมือนกัน ส่วนจะเป็นสายพันธุ์อะไรนั้น เราไปรู้จักพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า


Laurina หรือ Bourbon Pointu เป็นหนึ่งในสายพันธุ์เก่าแก่หายากที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากโลก

Laurina หรือ Bourbon Pointu เป็นหนึ่งในสายพันธุ์เก่าแก่หายากที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากโลก เป็นสายพันธุ์อาราบิกาที่มีคาเฟอีนน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ตามธรรมชาติ โดยมีคาเฟอีนอยู่ระหว่าง 0.4 - 0.75% ต่างจากอาราบิกาและโรบัสตาที่มีมากถึง 1.2 – 1.6 % ถูกค้นพบที่เกาะเบอร์บอนหรือรียูเนียนในปัจจุบันเมื่อศตวรรษที่ 18 โดยเจ้าของไร่กาแฟบนเกาะที่ชื่อ Leroy เป็นผู้คัดเลือกเฉพาะต้นกลายพันธุ์เอาไปปลูกต่อ เนื่องจากเห็นว่ามีความทนทานต่อความแห้งแล้ง โดยใช้ชื่อเรียกกาแฟตัวนี้ว่า ‘Café Leroy’ ส่วนชื่อ Bourbon Pointu มีการเรียกกันในภายหลังนับจากปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ก็ยังมีชื่ออื่นเรียกกันอีกว่า ‘Arabica Laurina’ ตามชื่อผู้พัฒนาสายพันธุ์นี้ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์กาแฟนี้ เป็นที่นิยมของตลาดอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่งในปี ค.ศ. 1942 ความนิยมจึงหายไป จากนั้นไม่มีใครเอ่ยชื่อสายพันธุ์กาแฟนี้อีกเลย จนกระทั่ง 50 ปีต่อมา ปรากฎชื่อกาแฟสายพันธุ์นี้ขึ้นอีกครั้งบนเวทีโลก โดยชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ โฮเซ่ โยชิอากิ คาวาชิมา นักล่ากาแฟชื่อดัง ภายหลังมีการฟื้นฟูสายพันธุ์ Laurina ให้กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งเหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน จนกลับมาอยู่ในความสนใจของตลาดกาแฟ โดยเฉพาะในยุโรป

จนกระทั่ง 50 ปีต่อมา ปรากฎชื่อกาแฟสายพันธุ์นี้ขึ้นอีกครั้งบนเวทีโลก โดยชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ โฮเซ่ โยชิอากิ คาวาชิมา นักล่ากาแฟชื่อดัง

กาแฟ Laurina มีรสชาติที่เบากว่า ละเอียดอ่อนกว่า เมื่อเทียบกับกาแฟที่ผ่านกระบวนการสกัดคาเฟอีน หรือ Decaf Coffee นอกจากนี้ ด้วยปริมาณคาเฟอีนต่ำตามธรรมชาติ จึงทำให้กาแฟสายพันธุ์นี้มีโปรไฟล์โดดเด่น ชัดเจนทั้งในส่วนของรสชาติและกลิ่น มีความเป็น Fruity กรดต่ำ รสหวาน ไม่ขมเหมือนกับกาแฟส่วนใหญ่ และยังมีกลิ่นหอมละมุนของผลไม้ พลัม มะละกอ พีช และน้ำผึ้ง


ด้วยลักษณะทางสายพันธุ์เฉพาะ ที่มีความทนทานต่อโรคและแมลงได้น้อย จึงทำให้ผลผลิตที่ได้แต่ละปีมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีราคาสูงลิบลิ่ว มากถึงกิโลกรัมละ 15,000 บาท ปัจจุบันเกษตรกรในโคลอมเบีย บราซิล กำลังพยายามพัฒนาสายพันธุ์และนำกลับมาปลูกอีกครั้ง และคาดว่า ในอนาคตหากมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ น่าจะเป็นตัวเลือกอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคกาแฟพิเศษ หรือ Specialty Coffee และในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตตอนนี้ คงยังไม่สามารถแทนที่กาแฟ Decaf ได้ แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคต อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ในการขยายพันธุ์เพื่อเพาะปลูกตามพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นอีกความหวังหนึ่งให้กับตลาดกาแฟชนิดนี้ก็เป็นไปได้ รวมถึงการลดต้นทุนในการผลิตที่ซับซ้อนของกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนอีกด้วย


นอกเหนือจากเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องกลิ่นรสที่ดีมาก ๆ ที่เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่ไม่ดื่มคาเฟอีน หรือดื่มในปริมาณน้อย และยังได้รับรสชาติดั้งเดิมของกาแฟจริง ๆ เมื่อพิจารณาจากโปรไฟล์แล้ว จึงไม่แปลกใจที่ กาแฟ Laurina มีราคาสูง และเห็นไร่กาแฟจำนวนไม่น้อยนำกาแฟสายพันธุ์นี้ ไปต่อยอดปลูกเพิ่มปริมาณการผลิตกันอย่างมากมาย


---------------------------------------- Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

----------------------------------------

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

635 views0 comments

Recent Posts

See All

댓글


bottom of page