" หมู่บ้านปางขุม เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในหุบเขาอันกว้างใหญ่ หากขึ้นเหนือไปอีกจะเข้าไปยังเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปางขุมมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างดอยม่อนอังเกตุ "
ชีวิตวัยเกษียณกับความฝันและความสุขในยามบั้นปลายที่ใครหลาย ๆ คนต่างวาดฝันเอาไว้ในแบบของตัวเองคนทำงานราชการมาทั้งชีวิตคงจะพอใจกับการนั่งกินนอนกินบำนาญในแต่ละเดือน หรือคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว การปล่อยให้ธุรกิจอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองก็คงมีความสุขไม่ต่างกับการรับบำนาญข้าราชการสักเท่าไหร่ แต่สำหรับพี่ตุ๊ก รมณ บุญรับทรัพย์มีเป้าหมายของการเกษียณคือการให้ความสุขแก่ตัวเองหลังจากสวมบทบาทคนกรุงเทพฯ มาตลอดชีวิตแต่ความฝันและความสำเร็จแบบคนกรุงอาจไม่ใช่สิ่งที่พอใจนัก ประกอบกับช่วงนั้นเป็นปีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความรักและศรัทธาจึงตัดสินใจตามรอยความสุขที่พระองค์ทรงมอบให้แก่ผสกนิกรชาวไทย เลือกทิ้งชีวิตในกรุงเทพเปลี่ยนมาใช้ชีวิตยามบั้นปลายในจังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ซึ่งมากด้วยความทรงจำเมื่อครั้งวันวานของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเป็นที่มาของการเดินทางอันแสนพิเศษของเราร่วมกับพี่ตุ๊กในครั้งนี้
ความตื่นเต้นอย่างหนึ่งของคนชอบเดินทาง คือการได้มองวิถีชีวิตสองข้างทางที่เปลี่ยนไปพร้อมกับภูมิประเทศ จากถนนราดยางในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง สู่ถนนคอนกรีตปนสีเขียวของตะไคร่น้ำที่พาพวกเราลัดเลาะไปยังสถานที่สุดพิเศษในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่หากพูดถึงสะเมิงหลายคนคงจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตช่วงฤดูหนาวของนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาที่ต้องการหลีกหนีสังคมเมืองเข้ามาสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติสักครั้ง และเมื่อมาถึงก็ต้องตามหาผลไม้ขึ้นชื่ออย่างสตรอว์เบอร์รีกับประโยคที่ว่า “ถ้ามาสะเมิงแล้วไม่ได้กิน สตรอว์เบอร์รีก็เหมือนมาไม่ถึง” ซึ่งแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่านั่นกลายเป็นภาพจำของทุกคนเวลาพูดถึงสะเมิงไปแล้ว แต่การเดินทางของเรานั้นมุ่งขึ้นเหนือลึกไปอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งจากตัวเมืองแม่ริม เพื่อเข้าไปในหมู่บ้านปางขุม ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
หมู่บ้านปางขุม เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในหุบเขาอันกว้างใหญ่ หากขึ้นเหนือไปอีกจะเข้าไปยังเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปางขุมมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างดอยม่อนอังเกตุ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีชาวลัวะเข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้ ก่อนจะมีชาวปกาเกอะญอและชาติพันธุ์อื่น ๆ อพยพเข้ามาหลังจากนั้น จนปัจจุบันมีประชากรทั้งหมดประมาณ 800 คน และกลายเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมชนเผ่าไว้มากมาย ทั้ง ปกาเกอะญอ ลีซอ และคนเมือง มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายภายใต้สภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติ ประชากรส่วนใหญ่จึงทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกข้าวเพื่อยังชีพกินเองตลอดทั้งปี รวมทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อเลี้ยงชีพอย่างกาแฟและสตรอว์เบอร์รีซึ่งมีแนวโน้มเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จนบางอย่างที่ชุมชนเคยมีแทบจะหายไปหมดแล้วและบางอย่างก็ถูกลดความสำคัญไปตามกาลเวลา คุณครูจารรัตน์ กาแฮ ลูกของผู้ใหญ่บ้านปางขุมเล่าให้เราฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนว่า “ชุมชนของเราทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เมื่อก่อนจะปลูกดอกไม้กันมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว เนื่องจากการปลูกดอกไม้แต่ละครั้งต้องใช้ทุนเยอะ ซึ่งชาวบ้านรับค่าใช้จ่ายในแต่ละปีไม่ไหว ปัจจุบันเหลือแค่ 2 - 3 คนที่ทำอยู่ หรือแม้กระทั่งเมี้ยงก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านปลูกกันมากแต่เดี๋ยวนี้ลดลงไปแล้วเช่นกันถ้าเทียบกับเมื่อก่อน สิ่งหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจน คือความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนมากขึ้น มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วที่เราเก็บเมี้ยงขายก็สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เดี๋ยวนี้แทบทุกอย่างต้องซื้อด้วยเงิน ยิ่งไปกว่านั้นลูกหลานส่วนใหญ่ของที่นี่เองก็เริ่มเข้าไปทำงานในเมือง นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวบ้านมากที่สุดแล้ว”
ความจริงอย่างหนึ่งของเวลาคือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยย้อนกลับมา ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วความเปลี่ยนแปลงที่คุณครูกล่าวถึงนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ชุมชนนี้ต้องเผชิญตามลำพัง แต่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือน ๆ กันทั่วทุกมุมโลก หรือที่เรารู้จักมันในนามของ “โลกาภิวัฒน์” เปรียบเสมือนกระแสน้ำอันเชี่ยวกราดที่พัดพาเอาทุกอย่างลอยไปในทิศทางเดียวและคงไม่มีใครหยุดกระแสน้ำสายนี้ได้หนทางที่ดีที่สุดจึงเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อไม่ให้ถูกกระแสน้ำนั้นซัดจมหายไป ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ชุมชนปางขุมพยายามปรับตัวมาตลอดคือการรับความรู้ใหม่ ๆ ร่วมกับการรักษาวัฒนธรรมเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น ความเป็นพื้นที่ต้นน้ำทำให้ชุมชนนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับป่าค่อนข้างมากโดยเฉพาะเรื่องของผีสางนางไม้ ซึ่งเป็นรากความเชื่อเดิมของทุกชนเผ่า บริเวณนี้จึงไม่มีการตัดไม้ในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อนำใช้ประโยชน์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ประกอบกับชุมชนอยู่ในพื้นที่เขตรักษาป่าทำให้ชุมชนต้องร่วมกันดูแลป่าและรักษาต้นน้ำเอาไว้รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจและปฏิสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชนผ่านการเข้าร่วมงานของชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น เวลามีงานของชนเผ่าลีซอ ชนเผ่าอื่น ๆ ในหมู่บ้านก็จะเข้าร่วมด้วย เป็นต้น
เป็นที่รู้กันว่าปากท้องส่วนใหญ่ของชุมชนฝากไว้กับการเกษตรแทบทั้งสิ้น ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นข้าว เมี้ยง และดอกไม้ ต่างเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนที่หล่อเลี้ยงชุมชนมาได้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ความต้องการของตลาดเปลี่ยนแปลงไป สินค้าตัวเดิมก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปได้ “กาแฟ” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและทางรอดของชุมชนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์
หน้าที่ของคนจึงไม่ใช่การจัดสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมจัดการตัวมันเองได้แต่เป็นการควบคุมปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะแมลงต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “กาแฟรักษาป่า”
หน้าที่ของคน ป่า และกาแฟ
ก่อนถึงหมู่บ้านเราสังเกตเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทาง จนรถของเราที่ขนกระสอบปุ๋ยมาเต็มหลังกระบะก็หยุดอยู่ข้างทางที่สองฝั่งถนนเต็มไปด้วยต้นกาแฟสูงเกือบท่วมหัวกับลูกเชอร์รีกาแฟสีเขียวเป็นพวง รอวันที่มันเปลี่ยนเป็นสีแดงเพื่อเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม ซึ่งทั้งหมดเป็นกาแฟสายพันธุ์อราบิกา ทิปิก้า ด้วยวิธีสังเกตง่าย ๆ คือยอดของต้นจะเป็นสีแดง ทั้งนี้บรรยากาศรอบ ๆ ยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ สัมผัสได้ถึงไอเย็นจากธรรมชาติจนแทบไม่อยากขยับตัวไปที่ไหน ขณะนั้นหญิงชาวบ้านคนหนึ่งก็เดินออกมาจากสวนกาแฟเพื่อมาต้อนรับคุยกันกับพี่ตุ๊กอย่างสนิทสนม ก่อนจะช่วยกันขนกระสอบปุ๋ยจำนวนหนึ่งลงในสวน ซึ่งเรารู้ภายหลังว่าเป็นหนึ่งในลูกสวนของพี่ตุ๊ก ที่มีสวนกาแฟก่อนถึงหมู่บ้านปางขุมเพียง 2 กิโลเมตร เมื่อเสร็จธุระกับลูกไร่คนแรกแล้ว กระสอบปุ๋ยอีกครึ่งกระบะก็ถูกขนลงในพื้นที่สวนกาแฟของลูกไร่คนอื่น ๆ ใกล้ ๆ กันไม่ถึง 1 กิโลเมตรจากจุดแรก และเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ป้อจะพอ” (คุณพ่อจะพอ) คนปกาเกอะญอสูงวัยอีกหนึ่งลูกไร่คนสำคัญของพี่ตุ๊ก
“ป้ออยู่ที่นี่มานานแล้วเดิมทีเป็นคนแม่แตง แต่ได้เมียเป็นคนสะเมิงเลยย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่พื้นที่แถวนี้เมื่อก่อนมีแต่หญ้ากับเมี้ยงคนทั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็ปลูกเมี้ยงแต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเยอะแล้ว เริ่มปลูกกาแฟเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพราะเห็นจากคนอื่นที่เริ่มมาก่อนเป็น 10 ปี ตอนนี้ป้อเองอายุเยอะแล้ว ร่างกายทรุดโทรมลงทุกปี เลยคิดว่าจะดูแลแค่กาแฟ เพราะกาแฟให้ผลผลิตดีกว่าพืชอื่น ๆ ที่เคยปลูก สวนนี้แค่สามปีก็ได้เงินแล้ว ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ทุกปี อีกไม่นานคงจะเลิกปลูกอย่างอื่น”
คุณพ่อจะพอเล่าเรื่องราวของการเป็นเกษตรกรมาทั้งชีวิต เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนมานานตั้งแต่กาแฟยังมีไม่มากจนตัวเองเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มหันมาปลูกและให้ความสำคัญกับกาแฟอย่างจริงจังวิถีเกษตรของพ่อจะพอเป็นอะไรที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนแค่รอวันเก็บผลผลิตจากต้นก็เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้แล้วเพราะระบบนิเวศของคน ป่า กาแฟ นั้นเอื้อต่อกันมากถึงมากที่สุดโดยภายในสวนจะมีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา คอยผลัดใบไม้ร่วงโรยจากต้นหล่นลงมาเป็นกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้กับต้นกาแฟไม่มีการใช้สารเคมี หน้าที่ของคนจึงไม่ใช่การจัดสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมจัดการตัวมันเองได้แต่เป็นการควบคุมปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะแมลงต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “กาแฟรักษาป่า” ซึ่งเป็นสิ่งแสดงวิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอกับป่าได้เป็นอย่างดี
จริง ๆ แล้วชุมชนแห่งนี้ปลูกกาแฟมานานมากแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นที่แพร่หลายสักเท่าไหร่และที่สำคัญคือขาดตลาดที่จะมาส่งเสริมผลผลิตให้ออกไปสู่ภายนอกได้ในอีกแง่มุมหนึ่งเราอาจจะหมายรวมไปถึงความรู้หรือศักยภาพของชาวบ้านเองไม่ทันกับยุคสมัย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุปัจจัยใด ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและวัฒนธรรม วิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ปลูกพืชชนิดเดิม ทำแบบเดิมรอคนมารับผลผลิตเหมือนเดิม อยู่กับความรู้เดิม การไม่ออกจากความเดิม ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อน “ความกลัว” ของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
" ปีแรกที่เข้ามาในหมู่บ้าน เหมือนทุกคนเฝ้าดูอยู่ว่าจะทำได้ขนาดไหน พอปีที่สองก็เข้ามาอีก และพี่ก็ให้ราคามากกว่าเดิม จนเริ่มมีคนอื่น ๆ เข้ามาแย่งซื้อโดยให้ราคาสูงขึ้นด้วย ซึ่งพี่มองว่ามันดีมากสำหรับชาวบ้าน "
“เฒ่าแก่” ผู้สร้างความเชื่อมั่นและขจัดความกลัว
หรือพี่ตุ๊กที่ครั้งหนึ่งเคยเข้ามาในหมู่บ้านปางขุมในฐานะคนนอก จากคำแนะนำของเพื่อนที่เคยเข้าร่วมโครงการหลวงด้วยกัน และพบว่า กาแฟปางขุมมีคุณภาพดีมาก ด้วยความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงากับบรรยากาศอันร่มรื่น กับลมที่ลอดผ่านหุบเขาเข้ามาทำให้อากาศเย็นตลอดปี และที่สำคัญคือยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาพื้นที่นี้อย่างจริงจัง หรือบางเจ้าเข้ามาแล้วกลับทิ้งผลผลิตของชาวบ้าน ซึ่งสร้างความเสียหายและความกลัวให้กับชาวบ้านผู้ปลูกกาแฟเป็นอย่างมาก จากเหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผ่านการสร้างธุรกิจกาแฟ
“หลังจากได้รู้จักหมู่บ้านปางขุมจากคำแนะนำของเพื่อนจึงขับรถเข้ามาในหมู่บ้านเองคนเดียว ไม่รู้จักใครเลย มาถามหาคนที่ปลูกกาแฟในหมู่บ้านก็ได้มีโอกาศพูดคุย กว่าเขาจะเชื่อใจ จะเปิดใจก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้มีคนมาขอรับซื้อกาแฟแต่สุดท้ายก็ไม่มา บางเจ้าชาวบ้านเก็บไว้ให้แต่ไม่มาเอา เมื่อเป็นอย่างนี้เราจึงตัดสินใจขึ้นมาเองและให้ราคาที่แพงกว่าเจ้าอื่น เพื่อให้ชาวบ้านสบายใจ และในอีกมุมหนึ่งคือสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านว่าจะไม่ทิ้งผลผลิตที่ชาวบ้านหามาได้ให้เสียเปล่า”
เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปในหมู่บ้านจนถึงวันที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของกาแฟปางขุม พี่ตุ๊กได้อธิบายต่อไปอีกอย่างเห็นภาพไว้ว่า “ปีแรกที่เข้ามาในหมู่บ้าน เหมือนทุกคนเฝ้าดูอยู่ว่าจะทำได้ขนาดไหน พอปีที่สองก็เข้ามาอีก และพี่ก็ให้ราคามากกว่าเดิม จนเริ่มมีคนอื่น ๆ เข้ามาแย่งซื้อโดยให้ราคาสูงขึ้นด้วย ซึ่งพี่มองว่ามันดีมากสำหรับชาวบ้านเหมือนพี่เป็นคนทำให้ที่นี่มันมีเทคนิคของการตลาด พอปีที่สามผลผลิตยิ่งมีผลตอบรับดีขึ้นไปอีก นั่นทำให้เกษตรกรพัฒนาและมีชาวบ้านคนอื่น ๆ เข้ามาขายผลผลิตกับพี่มากขึ้น ในระหว่างนี้พี่ก็ส่งประกวดเมล็ดกาแฟไปด้วย ปรากฏว่าได้รางวัลและคะแนนเพิ่มขึ้นทุกปี ยิ่งเป็นการการันตีคุณภาพกาแฟปางขุมขึ้นมาว่ากาแฟที่นี่ดีด้วยตัวของมันเอง หลังจากนั้นพี่จึงเริ่มหันมาควบคุมคุณภาพของกาแฟไปด้วย”
คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของกาแฟปางขุมที่เกิดจากความร่วมมือของพี่ตุ๊กกับชาวบ้านปางขุมเอง ในครั้งแรกหลาย ๆ คน อาจจะมองพี่ตุ๊กไม่ต่างกับผู้ประกอบการคนอื่นที่เข้ามาเพื่อหวังผลกำไรเท่านั้น แต่คงไม่ใช่กับสิ่งที่เกิดขึ้นที่พี่ตุ๊กพยายามส่งเสริมคุณภาพของกาแฟปางขุมร่วมกับชาวบ้านในกลุ่มของตัวเอง ความสำเร็จนี้ถูกแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ชุมชนปางขุมยังไม่มีวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มกาแฟที่ชัดเจน เกษตรกรส่วนมากหรือแทบจะทั้งหมดมีฐานะเป็นลูกไร่รอวันขายผลผลิตให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามารับซื้อทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชุมชนเองไม่พร้อมและยังไม่มีศักยภาพมากพอในการแปรรูปกาแฟด้วยตัวเอง ด้วยพื้นฐานของชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีหน้าที่ปลูก ดูแล และเก็บผลผลิต ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างชาวบ้านที่ทำหน้าที่ดูแลในส่วนต้นน้ำ กับผู้ประกอบการที่จัดการกลางน้ำและปลายน้ำ โดยจะเข้ามารับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปและส่งออกสู่ตลาดด้วยวิธีการต่าง ๆ
ส่วนผลผลิตของลูกไร่พี่ตุ๊กไม่ได้มากมายอย่างที่คิด เพราะในหนึ่งปีเคยได้สูงสุดเพียงแค่สองตันแห้งเท่านั้น ทั้งนี้ปริมาณไม่ว่าจะมากหรือน้อยนั้นไม่ได้แสดงถึงคุณภาพแต่อย่างใด หลายคนอาจมองว่า กาแฟที่ดีต้องมีน้อยซึ่งความคิดนี้คงไม่จริงสักเท่าไหร่ ดังนั้นการพิจารณาเป็นกรณีไปอาจจะสิ่งที่ดีกว่า เมื่อมองย้อนกลับมาที่ผลผลิตของพี่ตุ๊ก กาแฟทั้งหมดที่ได้จากเกษตรกรจะถูกนำไปแปรรูปออกมาภายใต้แบรนด์สินค้าของ “Monberry Coffee” เป็นร้านกาแฟในตัวอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมล็ดกาแฟที่ได้จากการแปรรูปจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือขายส่งให้โรงคั่วอื่น ๆ และส่วนที่สองคือนำมาทำเป็นสินค้าของม่อนเบอร์รี่เอง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณภาพของกาแฟให้สอดคล้องกับตลาด “เราทำกาแฟดีให้มันดี” ประโยคนี้ทำให้ย้อนนึกไปถึงต้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับกาแฟ อันเป็นที่มาของคุณภาพกาแฟปางขุมที่ดีได้ด้วยตัวของมันเอง ประกอบกับการตลาดที่ดี ก็จะนำผลลัพธ์ที่น่าพึ่งพอใจมาสู่ผู้ประกอบการและชุมชน
กาแฟปางขุมสู่ตลาดกลุ่ม Specialty
อย่างที่บอกว่ากาแฟปางขุมถูกวางเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ซึ่งความชัดเจนนี้หมายถึงการพากาแฟปางขุมไปอยู่กลุ่มตลาด Specialty ด้วยการแปรรูป 3 รูปแบบ ทั้ง Wash process, Natural process และ Honey process ดังนั้น ในระหว่างทางมันจึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้สามารถไปอยู่ในจุดนั้นได้
“ใครจะมองว่ากาแฟคู่แข่งเยอะ แต่พี่ว่าไม่ใช่ ตลาดไม่ได้มองว่าเราจะต้องสู้กับใคร เราเองมีเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่ต้น เพราะพี่ต้องการขายแพง ด้วยผลผลิตที่มีไม่มาก ไม่ใช้สารเคมี และความเป็น Single จึงเลือกที่จะส่งประกวดเพื่อเอาคะแนน ปรากฏว่าผลออกมาเกินคาด เพราะเราส่งไปปีแรกก็ได้รางวัลเลย” พี่ตุ๊กบอกกับเรา
ด้วยคะแนน Cupping 84.54 ประเภท Natural Process ได้อันดับที่ 9 และ 85.64 ประเภท Wash Process อันดับที่ 10 ในงานประกวด Thai specialty coffee award 2020 ปีต่อมาส่งประกวดรายการเดิมก็คว้ารางวัลได้อีก
ด้วย Cupping score 84.75 เป็นอันดับที่ 7 ประเภท Natural Process ของปีนั้น และล่าสุดปี 2022 ก็สามารถเอารางวัลมาได้อีกเช่นกัน ด้วยคะแนน 86.95 เป็นอันดับที่ 14 ประเภท Natural Process จะเห็นได้ว่าคะแนนของกาแฟปางขุมมากขึ้นทุกปี นี่อาจจะเป็นมุมหนึ่งที่สะท้อนถึงคุณภาพกาแฟ อย่างไรก็ตาม คะแนนเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีชั้นดี ที่จะนำพาผลิตภัณฑ์ของปางขุมไปสู่ตลาดกลุ่ม Specialty ได้จริง กลุ่มทุนใหญ่เริ่มให้ความสนใจกาแฟของที่นี่ เหมือนกับที่เซ็นทาราเข้ามาประมูลและซื้อเมล็ดกาแฟทุกปี
“ตรงนี้พี่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องตลาดแล้ว นึกถึงแค่ว่าเราจะไปอย่างไรต่อ จะรักษาคุณภาพของมันไว้อย่างไร” เพราะการรักษาผลผลิตให้ได้คุณภาพเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างกับกระบวนการอื่น ๆ แม้จะมาถึงเป้าหมายแต่ก็ยังมีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ พี่ตุ๊กทิ้งท้ายกับเราว่าอยากทำให้ผู้ปลูกกาแฟในชุมชนสามารถจัดการแปรรูปเองได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า และระหว่างนี้ก็อยากทดลองนำกาแฟเกชามาปลูก นั่นคงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากมันเกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งจะทำให้ชุมชนสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ไม่ต้องเป็นคนรอเพียงอย่างเดียว และหวังไว้ลึก ๆ ว่าในสักวัน จะมีกลุ่มกาแฟของชุมชนเพื่อชุมชนจริง ๆ ไม่ใช่เป็นวันที่กาแฟปางขุมถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาจับจองพื้นที่ในหมู่บ้านปางขุมเสียก่อน
" จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากมันเกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งจะทำให้ชุมชนสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ไม่ต้องเป็นคนรอเพียงอย่างเดียว และหวังไว้ลึก ๆ ว่าในสักวัน จะมีกลุ่มกาแฟของชุมชนเพื่อชุมชนจริง ๆ ไม่ใช่เป็นวันที่กาแฟปางขุมถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ "
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
コメント