top of page

Southern Agricultural Research Center, Paksong

Writer: coffeetravelermagcoffeetravelermag

Updated: 16 hours ago



" สถานีศูนย์ภาคใต้นี้ เป็นสถานีที่จะมีบทบาทภาระหลักเกี่ยวกับกาแฟ ตั้งแต่การรวบรวมสายพันธุ์การอนุรักษ์ และการค้นคว้าเรื่องเทคนิคการปลูก การจัดการสวนให้มีประสิทธิภาพ "


ลาวใต้ หรือทางตอนใต้ของประเทศลาว คือสถานที่ที่ขึ้นชื่อด้านการปลูกกาแฟมานานนับศตวรรษ โดยเฉพาะเมืองปากซอง (Paksong) เมืองกาแฟที่ตั้งอยู่บนยอดภูเทวดา ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของแขวงจำปาศักดิ์ ที่มีพื้นที่เกือบทั้งหมดตั้งอยู่บนที่ราบสูงโบลาเวน (Bolaven Plateau) อยู่บนความสูง 1,000 – 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดของลาวตอนใต้ มีปริมาณความชื้นสูง ทำให้มีฝนตกชุกมากกว่าปีละ 2,500 มิลลิเมตร อากาศเย็นสบายถึงหนาวเกือบตลอดทั้งปี และด้วยพื้นที่แถบนี้ คืออดีตภูเขาไฟที่ดับไปแล้ว จึงทำให้ดินในแถบเมืองปากซอง เต็มไปด้วยแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพันธุ์ และเมื่อมาประกอบกับสภาพอากาศที่เหมาะสม แหล่งน้ำจากธรรมชาติที่มีเพียงพอ ปากซอง จึงกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการผลิตกาแฟคุณภาพ เพื่อส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และประเทศลาวเป็นอย่างมหาศาล



" นอกจากการศึกษาค้นคว้าและเก็บเชื้อพันธุ์แล้ว ที่นี่ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเกษตรกรอีกด้วย "


ปัจจุบัน กาแฟกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของ สปป. ลาว อย่างไรก็ตาม การผลิตกาแฟของลาวยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่ในหลายปัจจัย โดยเฉพาะในด้านการปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมไปถึงปัญหาเรื่องพื้นที่เพาะปลูกกาแฟที่มีจำนวนลดลงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ในขณะที่ปริมาณความต้องการกาแฟลาวของตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปลูกกาแฟอย่างชัดเจน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงการเจริญเติบโตของต้นกาแฟเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของเมล็ดกาแฟรวมไปถึงการระบาดของโรคพืชที่อาจทำลายผลผลิตกาแฟได้ในระยะเวลาอันสั้นอีกด้วย


ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงช่วยกันวางแผนส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกกาแฟอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และเพียงพอกับความต้องการของตลาดในอนาคต และหนึ่งในหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านนี้โดยตรงก็คือ ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยกสิกรรมภาคใต้ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้นั่นเอง



ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์แห่งอนาคต

ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยกสิกรรมภาคใต้ (Southern Agricultural Research Center) ตั้งอยู่ที่หลัก 35 บ้านอีตู้ เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว เป็นหนึ่งใน 13 ศูนย์ที่ขึ้นกับสถาบันค้นคว้ากสิกรรมป่าไม้และพัฒนาชนบท ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1990 โดยกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ภายใต้โครงการพัฒนากสิกรรม สปป. ลาว สำหรับสถานีศูนย์ภาคใต้นี้ เป็นสถานีที่จะมีบทบาทภาระหลักเกี่ยวกับกาแฟ ตั้งแต่การรวบรวมสายพันธุ์ การอนุรักษ์ และการค้นคว้าเรื่องเทคนิคการปลูก การจัดการสวนให้มีประสิทธิภาพ


“เมื่อก่อน ชาวสวนเวลาปลูกต้นกาแฟ เขามักจะปลูกไปตามธรรมชาติ ต้นกาแฟจะใหญ่จะเล็กก็ไม่ได้ดูแลมากนัก แต่ศูนย์ของเรา จะศึกษาวิจัย เพื่อหาเทคนิคการปลูกที่ถูกต้อง เช่น การตัดแต่งต้นกาแฟ การปลูก การดูแล และจะเอาเทคนิคเหล่านี้มาสอนชาวสวน พวกเขาก็จะได้เรียนรู้เทคนิคการดูแลต้นกาแฟที่ถูกต้อง ต้นกาแฟจะสวยขึ้น ผลผลิตดีขึ้น ซึ่งเมื่อชาวสวนได้รับความรู้เหล่านี้ เขาก็จะเอาไปพัฒนาสวนของตัวเองให้ดีขึ้นได้” หัวหน้าบุญมา (บุญมา เพ็ญพระจันทร์) ผู้อำนวยการศูนย์ค้นคว้าและวิจัยกสิกรรมภาคใต้ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้กล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในการพัฒนาคุณภาพของกาแฟลาว รวมถึงการบูรณาการแนวทางการเกษตรสมัยใหม่เข้ากับข้อได้เปรียบที่ลาวมีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่ากาแฟลาวจะถูกพัฒนาขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานสากล


“เราจะเน้นไปที่การสนับสนุนสายพันธุ์ องค์ความรู้เรื่องเทคนิคการปลูก การดูแลสวน การเพิ่มผลผลิตไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาเทคนิคการปลูก เพื่อให้ต้นกาแฟสามารถปรับตัวให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ และโรคต่าง ๆ เราจะได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้นกับต้นกาแฟของเรา


ต้นกาแฟที่เราเอามาศึกษานำเข้ามาจากหลายประเทศ เช่น บราซิล เอธิโอเปีย เรานำเข้ามาตั้งปี 1995 จำนวน 47 สายพันธุ์ เพื่อหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด รวมถึงเพื่อค้นคว้าเรื่องเทคนิคการปลูก การดูแลรักษา การจัดการสวน ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และจาก 47 สายพันธุ์ที่เราได้ศึกษาค้นคว้า มีอยู่ 8 สายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปากชองได้มากที่สุด ได้แก่ SJ133, T8667, BO2 ทั้งสามสายพันธุ์นำเข้ามาจากคอสตาริกา Caturra ที่นำเข้าจากบราซิล Typica, Java, Progeny 86 และ Progeny 88 ที่นำเข้ามาจากโคลอมเบีย อินโดนีเชีย และเยเมน ใน 8 สายพันธุ์ที่ว่า สายพันธุ์ที่ชาวสวนเขตพูเพียงโบลาเวนนิยมมากที่สุดคือ SJ133, T8667 และ BO2 เพราะให้ผลผลิตสูง และมีรสชาติที่ดี จึงทำให้ 3 สายพันธุ์มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขคพูเพียงโบลาเวนแห่งนี้”



" สายพันธุ์ที่ชาวสวนเขตพูเพียงโบลาเวนนิยมมากที่สุดคือ SJ133 , T8667 และ BO2 เพราะให้ผลผลิตสูง และมีรสชาติที่ดี "


หัวหน้าบุญมากล่าวเสริมว่า สายพันธุ์กาแฟของลาวจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคแรกที่ฝรั่งเศสเอาเข้ามาปลูก สมัยที่ประเทศลาวยังอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศส และยุคที่ 2 คือยุคที่ทางการลาวนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ในช่วงปี 1995 ก็คือ 47 สายพันธุ์ที่ถูกรวบรวมไว้ที่ศูนย์วิจัยกสิกรรมภาคใต้แห่งนี้ โดยในปัจจุบัน นอกจาก 47 สายพันธุ์นี้แล้ว ทางศูนย์ก็ได้ตามหา และรวบรวมสายพันธุ์กาแฟในยุคแรกที่ฝรั่งเศสเอาเข้ามา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสายพันธุ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสายพันธุ์กาแฟที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าดงดิบ ของบ้านหนองหลวง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากที่สุด ที่ทางศูนย์ต้องรีบเข้าไปเก็บเชื้อพันธุ์เหล่านี้ ก็เพื่อแข่งกับโครงการสร้างเขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้นในแหล่งเดียวกัน ซึ่งทุกครั้งที่มีการระเบิดเขื่อน ย่อมหมายถึงกาแฟดี ๆ หลายตัวที่โดนผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคเรื่องความเข้าใจของชาวบ้าน ที่มักจะเข้าไปตัดต้นกาแฟสายพันธุ์เหล่านี้ด้วยความไม่รู้ ดังนั้น ทางศูนย์จึงได้พยายามอย่างหนักเพื่อจะเก็บรวบรวมสายพันธุ์ดั้งเดิมเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเอามาขึ้นทะเบียนพันธุ์ให้มันเป็นรูปธรรม


“เราจะรวบรวมสายพันธุ์กาแฟแล้วเอามาขึ้นทะเบียนพันธุ์ จากนั้นก็จะมีการเก็บเชื้อพันธุ์กาแฟเหล่านี้ไว้ในธนาคาร เพราะกาแฟเองก็เป็นพืชชนิดหนึ่ง และมันก็สูญพันธุ์ได้เหมือนกัน เราจึงเริ่มมีการเก็บเมล็ดพันธุ์กาแฟแต่ละสายพันธุ์ไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ของเราที่เวียงจันทร์ ที่ในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแห่งชาติ แล้วจะมีการทำเว็บไซต์เพื่อให้เกษตรกรทั่วโลกสามารถเข้ามาดูเชื้อพันธุ์ที่เราเก็บเอาไว้ได้ นอกจากการเก็บเป็นเชื้อพันธุ์แล้ว เราก็มีการเก็บพันธุ์กาแฟเอาไว้ในแปลงทดลอง ซึ่งก็คือการปลูกต้นกาแฟเอาไว้ในแปลงที่ศูนย์แห่งนี้ ซึ่งเราพึ่งทำแปลงเสร็จไป เป็นศูนย์ ‘เต้าโฮม’ ซึ่งเต้าโฮมในภาษาลาวจะแปลว่ารวบรวม จะเรียกว่าเป็นแปลง Collection กาแฟก็ได้ พืชชนิดไหนที่เราสามารถเก็บเมล็ดได้ เราก็จะเก็บเมล็ดไว้ หากสายพันธุ์ไหน เห็นแล้วว่าเก็บเป็นพืชยืนต้นดีกว่า เราก็จะปลูกไว้ในแปลง แล้วก็จะเก็บเมล็ดเอาไว้ด้วย เผื่อหากวันใดวันหนึ่งมันสูญพันธุ์ไป เราก็สามารถเอาเมล็ดที่เก็บเอาไว้มาเพาะได้”


นอกจากการศึกษาค้นคว้าและเก็บเชื้อพันธุ์แล้ว ที่นี่ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเกษตรกรอีกด้วย โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางศูนย์ได้ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทย ประจำแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว และกลุ่มพันธมิตรกาแฟทั้งลาวและไทย ร่วมกันจัดงานเพื่อเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนากาแฟในด้านต่าง ๆ และเป็นการเปิดศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กาแฟของศูนย์ค้นคว้าและวิจัยกสิกรรมภาคใต้อย่างเป็นทางการด้วย งานนี้หากใครสนใจอยากชมแปลงสายพันธุ์กาแฟของลาว ที่ถูกรวบรวมเอาไว้ที่ศูนย์หรือแม้แต่สายพันธุ์ดั้งเดิมที่เคยถูกปลูกมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ที่มีความสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์ สามารถติดต่อเข้าชมได้ที่ ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยกสิกรรมภาคใต้ หลัก 35 บ้านอีตู้ เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว รับรองว่าได้ทั้งความรู้ พร้อมดื่มด่ำธรรมชาติท่ามกลางป่าไม้ ต้นกาแฟสีเขียว และกลิ่นหอมของเชอร์รีสีแดงได้อย่างเต็มปอดแน่นอน



" เราจะรวบรวมสายพันธุ์กาแฟแล้วเอามาขึ้นทะเบียนพันธุ์ จากนั้นก็จะมีการเก็บเชื้อพันธุ์กาแฟเหล่านี้ไว้ในธนาคารเพราะกาแฟเองก็เป็นพืชชนิดหนึ่งและมันก็สูญพันธุ์ได้เหมือนกัน "


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag



Comments


bottom of page