top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

Yanghak Coffee Ratchaburi กาแฟดีต้องดีตั้งแต่ราก


Cr. Coffee Traveler

แรกเริ่มเดิมที “สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกกาแฟและผลไม้ ยางหัก จำกัด” เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรเพื่อช่วยผยุงราคาผลผลิตในพื้นที่และอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนในเรื่องของการพยายามพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยผ่านการให้ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพกาแฟไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของตลาด และสามารถปรับราคาให้สูงขึ้นตามคุณภาพของผลผลิต อีกทั้งการพัฒนากาแฟไปสู่กาแฟคุณภาพยังช่วยให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น และสามารถยึดอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่าในการพัฒนาคุณภาพของกาแฟอาราบิกานั้นมีมานานพอสมควรและเห็นกันจนเคยชิน แต่สำหรับทางฝั่งของกาแฟโรบัสตาเอง ยังถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากภาพจำเดิม ๆ ที่โรบัสตาเป็นกาแฟสำหรับโรงงานหรือกาแฟสำเร็จรูป สู่การเป็นกาแฟโรบัสตาชั้นดีหรือ Fine Robusta ซึ่งต้องยอมรับว่าบ้านเราเองเริ่มมีการขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นสำหรับกาแฟโรบัสตาคุณภาพ รวมถึงมีการสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานของรัฐฯ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การรับซื้อ การจัดเวทีการแข่งขัน หรือการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาไปสู่โรบัสตาคุณภาพ


แน่นอนว่าการจะไปถึงจุดนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและสื่อสารไปถึงตัวเกษตรกรพอสมควร ถึงมูลค่าของกาแฟโรบัสตาคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากเกษตรกรสามารถจัดการกับผลผลิตได้อย่างถูกวิธี ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนและไกด์นำทางที่ดีให้กับเกษตรกร เช่นเดียวกันกับ “สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกกาแฟและผลไม้ ยางหัก จำกัด” จากตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่มีความตั้งใจในเรื่องของการอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตา เพื่อยกระดับของผลผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยผ่านความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่


เมื่อพูดถึงจังหวัดราชบุรีกับการปลูกกาแฟแล้ว ต้องยอมรับว่าจินตนาการภาพไร่กาแฟได้ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว จังหวัดราชบุรีมีสภาพแวดล้อมโดยรวมที่สามารถปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสตาได้ ซึ่งไม่แตกต่างจากทางจังหวัดชุมพรมากนัก แรกเริ่มเดิมที “สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกกาแฟและผลไม้ ยางหัก จำกัด” เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรเพื่อช่วยผยุงราคาผลผลิตในพื้นที่และอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก ซึ่งเรียกว่า ‘ผู้ก่อตั้งสหกรณ์’ โดยจดเป็นสหกรณ์เพื่อการเกษตรเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2562 ซึ่งมีทั้งผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นกาแฟและผลไม้ จึงใช้ชื่อว่า สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกกาแฟและผลไม้ ยางหัก จำกัด ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา


เรามีโอกาสได้พูดคุยกับพี่อ้วน (วีระพล พุ่มกะเนาว์) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์และเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดของการจัดตั้งกลุ่ม ‘สถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืน’ ถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางการพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาของตำบลยางหัก จังหวัดราชบุรี


“เราเป็นคนชุมพรและได้คลุกคลีกับสวนกาแฟมาตั้งแต่เกิด และมีโอกาสย้ายมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 จากนั้นเราก็เริ่มหายางพารา ปาล์มน้ำมันและกาแฟมาปลูกไว้ในสวนแต่ไม่ได้หวังผลในเชิงธุรกิจหรือรายได้จากการเกษตร เนื่องจากเราประกอบอาชีพเป็นผู้รับเหมาเป็นหลักจนในปีพ.ศ. 2542 มีโอกาสได้ไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและฟังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงตัดสินใจลองนำสิ่งที่ไม่มีในท้องถิ่นอย่างกาแฟโรบัสตามาทดลองปลูกเพื่อประกอบอาชีพ ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกาแฟโรบัสตาในจังหวัดราชบุรีซึ่งยังไม่มีใครปลูกกันอย่างจริงจัง หลังจากนั้นเราก็ปลูกกาแฟโรบัสตา

แซมในสวนผลไม้มาโดยตลอด และในปีพ.ศ. 2561 เรามีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ เนื่องจากทางสหกรณ์มีปัญหาไม่สามารถจัดตั้งสหกรณ์ได้อาจด้วยความไม่เข้าใจในหลาย ๆ ปัจจัยของสมาชิก เราจึงเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาในเรื่องของการปลูกกาแฟ”

Cr. Coffee Traveler

Cr. Coffee Traveler

"คุณภาพกาแฟของตำบลยางหักมีพื้นฐานที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องในการรักษาคุณภาพ"


พี่อ้วนยังคงคอยให้คำปรึกษากับทางกลุ่มสหกรณ์ฯ ในเรื่องของการปลูกกาแฟอยู่เสมอ พร้อมอธิบายให้เกษตรกรท่านอื่นเข้าใจถึงการยกระดับของคุณภาพกาแฟไปพร้อมกัน โดยเริ่มจากการแนะนำให้เกษตรกรตากกาแฟบนลานตากกาแฟแทนการตากที่พื้น เพื่อให้กาแฟมีความสะอาดมากขึ้น


“เราก็จับพลัดจับผลูในการเป็นที่ปรึกษาให้กับทางสหกรณ์มาสักระยะหนึ่ง เกษตรกรบางรายก็ปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งในเรื่องของการดูแลจัดการสวน และการตากกาแฟในแนวทางที่ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพกาแฟ ทำให้ในปี พ.ศ. 2564 มีกาแฟของเกษตรกรแปลงหนึ่งเมื่อสีแล้วมีกลิ่นหอมโดดเด่นกว่าแปลงอื่น เราจึงตัดสินใจส่งเมล็ดกาแฟจากแปลงนี้เข้าประกวดเวที สุดยอดเมล็ดกาแฟไทย เป็นครั้งแรก และได้รางวัลลำดับที่ 9 ตรงจุดนี้เองที่ทำให้เห็นว่าคุณภาพกาแฟของตำบลยางหักมีพื้นฐานที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องในการรักษาคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการดูแลต้นกาแฟ การเก็บเกี่ยว การตากและการแปรรูป ซึ่งทำให้ด้อยศักยภาพของเมล็ดกาแฟลงอย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงตัดสินใจจัดตั้งกลุ่ม สถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืน ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาอย่างยั่งยืนและรักษาคุณภาพตามหลักวิชาการทางด้านการเกษตรอย่างถูกต้อง ซึ่งเริ่มจากการรวบรวมสมาชิกที่เป็นเกษตรกรที่มีความตั้งใจจะพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาของตำบลยางหัก และพร้อมจะปฏิบัติกระบวนการทั้งหมดอย่างถูกต้องโดยอาศัยองค์ความรู้จากกรมวิชาการเกษตรกรและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง”

Cr. Coffee Traveler

"เราจึงตัดสินใจจัดตั้งกลุ่ม สถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืน ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาอย่างยั่งยืนและรักษาคุณภาพตามหลักวิชาการทางด้านการเกษตรอย่างถูกต้อง"


กลุ่มสถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืน ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมจำนวนสมาชิกปัจจุบันจำนวน 15 ราย ซึ่งถือเป็นกลุ่มตัวอย่างนำร่องผ่านการพัฒนาคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยทางกลุ่มได้ประสานงานร่วมกับทางสหกรณ์ฯ และได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งทางภาครัฐฯ และเอกชน ซึ่งในส่วนของการทำงานร่วมกัน และการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายนอกนั้น เราได้คุยกับคุณแคร์ (ญาณี ประสานดี) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดราชบุรี เพื่อขยายภาพของการพัฒนากาแฟโรบัสตาของตำบลยางหัก

จังหวัดราชบุรีให้ได้เห็นกันอย่างชัดเจน


“เราได้รับการบ้านมาจากทางสหกรณ์จังหวัดให้เข้ามาพัฒนาคุณภาพกาแฟของตำบลยางหัก ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ฯ จำนวน 70 ราย ในตอนนั้นเราไม่มีความรู้ในเรื่องของกาแฟ ประกอบกับจังหวัดราชบุรี ชาวบ้านไม่ได้ปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก แต่หลังจากที่นำกาแฟส่งเข้าประกวดและได้อันดับที่ 9 เราก็นำกาแฟล็อตที่ได้รางวัลเดินทางไปหาคุณตอง (อธิปต์พง ตั้งศุภธวัช) โรงคั่วกาแฟ CRAFT COFFEE ROASTER โดยมีความเชื่อว่ากาแฟของเรามันต้องมีอะไรดีถึงได้รางวัล ซึ่งคุณตองก็ทำการคั่วพร้อมคัปปิ้งให้ด้วย และอธิบายให้เข้าใจในระดับหนึ่งว่ากาแฟของเราค่อนข้างมีอนาคตและคุณภาพ สามารถยกระดับเพิ่มขึ้นได้อีก ประจวบเหมาะที่พี่อ้วนให้โจทย์กับเราถึงเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ของราชบุรี ซึ่งในช่วงเวลานั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์มีงบประมาณการส่งเสริมสินค้าเกษตรเข้ามาจำนวนหนึ่ง จึงขอคำปรึกษากับคุณตองถึงแนวทางของการพัฒนาคุณภาพกาแฟว่าควรเดินไปในทิศทางใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร”

Cr. Coffee Traveler

บอกได้เลยว่าเส้นทางการพัฒนากาแฟโรบัสตาของตำบลยางหักนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนและเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ซึ่งคุณแคร์และพี่อ้วนที่คล้ายเป็นหัวเรือใหญ่ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจในการเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ทางฝั่งของเกษตรกรที่ไม่เข้าใจ และการมีบุคคลบางกลุ่มที่พยายามเข้ามาทำให้ความเข้าใจของเกษตรกรคลาดเคลื่อน อาจด้วยวิถีเดิมที่ปกติแล้วเกษตรกรจะเก็บผลผลิตส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางในพื้นที่หรือโรงงาน ทำให้เคยชินกับการจัดการกับผลผลิตที่ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่แนวทางของการพัฒนาคุณภาพนั้น ย่อมมีขั้นตอนหรือวิธีการที่จำเป็นต้องใช้เวลาและความเข้าใจ


“หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณตองแล้ว เราก็ได้ประสานงานร่วมกันกับทางสหกรณ์จังหวัดราชบุรี เพื่อจัดตั้งโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรจังหวัดราชบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งได้มีการร่วมกันของภาครัฐในการจัดอบรมหลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเมล็ดกาแฟคุณภาพ’ ซึ่งได้รับเกียรติจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะคณะพี่เลี้ยงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น คุณเอก สุวรรณโณ ผู้บริหาร The First Valley Coffee Academy, ดร.ธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกสมาคมกาแฟและชาไทย, คุณพิษณุชัย แก้วพิชัย ผู้บริหารระดับสูงบริษัท กาแฟดอยช้าง, อาจารย์สุทัศน์ ทีฆบรรณ ผู้บริหารธุรกิจกาแฟมอนโตเร่, คุณธัญชนก ศรีสุขโข กรรมการผู้จัดการบริษัท พี.วาย.คอฟฟี่โรสเตอร์ จำกัด, คุณกิตติ หิรัญนิรมล เลขานุการ โรงคั่วปัญญาพาณิชย์, คุณบำรุง นิลเขียว เจ้าของสวนนิลเขียว จังหวัดชุมพร, และคุณนายธนกร นิลเขียว Q Robusta Grader สำหรับการมามอบความรู้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ตั้งแต่การบริหารจัดการต้นทาง การคัดสรรเมล็ดพันธุ์คุณภาพ รวมไปถึงแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้เป็นกาแฟโรบัสตาคุณภาพ”

Cr. Coffee Traveler

"ร้าน Junction Cafe & Coffee Roaster ได้นำผลผลิตของเกษตรกรกลุ่มสถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืน จัดทำขึ้นเป็นกาแฟ Sigle Origin ของตำบลยางหัก จังหวัดราชบุรี ในชื่อว่า ‘รากบุรีเบลนด์’ ภายใต้คอนเซ็ปท์กาแฟดีต้องดีตั้งแต่ราก"


เรียกได้ว่าเป็นการรวบรวมระดับท็อปของวงการกาแฟไทยกันเลยทีเดียว โดยคณะให้คำปรึกษาหรือคณะพี่เลี้ยงได้ทำงานร่วมกับสหกรณ์ฯ สิริรวมเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งในระหว่างทางก็มีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรที่สนับสนุนในเรื่องของกล้าพันธุ์ และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ซึ่งให้คำแนะนำและสนับสนุนเชื้อบิวเวอเรียสำหรับกำจัดมอดกาแฟ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มกาแฟในจังหวัดราชบุรีอย่างกลุ่ม WestKoff ซึ่งเป็นการรวมตัวของร้านกาแฟในจังหวัดราชบุรีจำนวน 5 ร้าน โดยร้าน Junction Cafe & Coffee Roaster ได้นำผลผลิตของเกษตรกรกลุ่มสถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืน จัดทำขึ้นเป็นกาแฟ Sigle Origin ของตำบลยางหัก จังหวัดราชบุรี ในชื่อว่า ‘รากบุรีเบลนด์’ ภายใต้คอนเซ็ปท์กาแฟดีต้องดีตั้งแต่ราก ซึ่งเป็นแนวคิดและความตั้งใจของทางสหกรณ์ฯ สำหรับการพัฒนากาแฟโรบัสตาของตำบลยางหัก โดยอาศัยการปรับปรุงบำรุงดินเป็นสารตั้งต้นในการต่อยอดคุณภาพของกาแฟต่อไป


ในระยะเวลาเพียง 6 เดือน คุณแคร์บอกกับเราว่า กลุ่มสหกรณ์ฯ และสถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืนมีการเดินหน้าที่ค่อนข้างเป็นระเบียบแบบแผนและถูกพัฒนามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยกระบวนการทั้งหมดเริ่มจากการเก็บตัวอย่างดินแต่ละแปลงมาวัดค่าพื้นฐาน เพื่อหาค่า pH ของดินหรือแร่ธาตุในดินที่เหมาะสมกับสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกในพื้นที่, ตรวจหาต้นแม่พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อขยายกล้าพันธุ์, และการใช้เชื้อบิวเวอเรียสำหรับกำจัดมอดกาแฟ รวมถึงการได้รับคำแนะนำจากคณะพี่เลี้ยงในเรื่องของการตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย ไปจนถึงการตากและการแปรรูปกาแฟอีกด้วย เมื่อต้นน้ำถูกจัดการอย่างดีแล้ว ในส่วนของขั้นตอนกลางน้ำก็ได้รับการสนับสนุนจากโรงคั่วเพื่อหาโปรไฟล์อันเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟโรบัสตาตำบลยางหัก รวมถึงในส่วนของปลายน้ำผ่านร้านกาแฟในจังหวัดที่นำกาแฟของกลุ่มมาผลิตเป็น Special Blend เพื่อถ่ายทอดกาแฟโรบัสตาคุณภาพของตำบลยางหักต่อไป บอกได้เลยว่าการพัฒนาถูกวางไว้อย่างเป็นขั้นตอนและถูกดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังมีแปลงสาธิตสำหรับการปรับปรุงดินหรือฟื้นฟูสวน ซึ่งได้แปลงของพี่อ้วนเป็นแปลงตัวอย่างสำหรับการทำปุ๋ยพืชสดโดยใช้ต้นปอเทืองอีกด้วย

Cr. Coffee Traveler

“ต้องยอมรับว่าสหกรณ์ฯ ของเราเดินหลงทางประมาณ 3 - 4 ปี หมายความว่าเกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ในการผลิตกาแฟที่ได้มาตรฐาน และไม่มีตลาดที่ให้มูลค่ากับผลผลิต ทำให้ตัวเกษตรกรส่วนใหญ่ตากแห้งแล้วส่งให้กับทางสหกรณ์ฯ หรือนำมาสีที่สหกรณ์แล้วขายให้กับพ่อค้าคนกลางหรือโรงงาน ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรบางรายก็มีตลาดหรือทำแบรนด์เป็นของตัวเอง ส่วนสหกรณ์ของเราก็จะมีการพัฒนาในแบบของเราโดยไม่ทิ้งเกษตรกร ซึ่งหมายความว่าสหกรณ์ฯ จะเป็นที่ที่เป็นองค์ความรู้ที่พร้อมจะพัฒนากาแฟคุณภาพให้ได้ปริมาณที่มากขึ้นและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ซึ่งสามารถคลายอำนาจของพ่อค้าคนกลางในพื้นที่หรือพ่อค้าคนกลางอื่น ๆ ได้ต่อไป”

Cr. Coffee Traveler

"องค์ความรู้ที่พร้อมจะพัฒนากาแฟคุณภาพให้ได้ปริมาณที่มากขึ้นและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ซึ่งสามารถคลายอำนาจของพ่อค้าคนกลางในพื้นที่หรือพ่อค้าคนกลางอื่น ๆ ได้ต่อไป"


บอกได้เลยว่าการได้พูดคุยกับทั้งพี่อ้วนและคุณแคร์ ทำให้ได้เห็นการพัฒนาผ่านความร่วมมือจากหลายฝ่ายแบบเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่จะถึงในช่วงปลายเดือนตุลาคม - ต้นเดือนมีนาคมนี้ ทางสหกรณ์ฯ ตัดสินใจที่จะรับซื้อเฉพาะผลเชอร์รีกาแฟจากเกษตรกรเท่านั้น เพื่อง่ายต่อการควบคุมผลผลิตและรักษามาตรฐานและคุณภาพของผลิตได้จนถึงปลายน้ำ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะได้พูดคุยกับหัวเรือใหญ่อย่างพี่อ้วนและคุณแคร์แล้ว เรายังได้สนทนากับอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ และสถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืน คุณเส (ทรงศักดิ์ ช่วยสมบูรณ์) เจ้าของสวนสมบูรณ์สุข ที่มองเห็นถึงมูลค่าเพิ่มของกาแฟโรบัสตาจึงเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกแปลงนำร่องด้วยเช่นกัน


“ก่อนหน้าที่จะมาปลูกกาแฟเราขายของเบ็ดเตล็ดอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม แต่อยากมีพื้นที่สำหรับทำสวนผลไม้และมาได้ที่ดินในจังหวัดราชบุรี จึงเริ่มหันมาทำเกษตรประมาณ 4 ปีที่แล้ว โดยการนำเงาะ ทุเรียน และปลูกแซมด้วยมะละกอ จากนั้นจึงเริ่มหาต้นอื่น ๆ มาปลูกเพื่อสร้างความสวยงานให้กับสวน เนื่องจากจะเริ่มทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย จึงนำกาแฟจากหลายแหล่งมาปลูกเพราะเห็นว่ากาแฟเป็นพืชที่ทนแล้งและไม่จำเป็นต้องดูแลมากมาย หลังจากนั้นเห็นว่าทางสหกรณ์ฯ เขาจัดตั้งกลุ่มกาแฟและผลไม้ยางหักจึงเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการจัดจำหน่ายผลผลิตของเรา ซึ่งในตอนนั้นต้องยอมรับว่า ทางสหกรณ์ฯ ยังไม่มีใครที่เข้ามาเป็นตัวหลักสำหรับการพัฒนากาแฟอย่างจริงจัง ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจกับพืชกาแฟ จนกระทั่งช่วงต้นปีที่คุณแคร์ได้เข้ามาให้การส่งเสริมโดยจัดอบรมผ่านคณะครูพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญทำให้เราเริ่มสนใจกาแฟมากขึ้นและอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาในพื้นที่”

Cr. Coffee Traveler

หลังจากที่คุณเสเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะพี่เลี้ยงและหน่วยงานที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน โดย คุณเสมองว่า การพัฒนาที่ทางสหกรณ์ฯ จัดหามาให้และสนับสนุนอย่างเต็มที่นั้น เป็นหนทางที่จะสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงและประกอบอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟได้อย่างยั่งยืนในอนาคต


“เมื่อได้องค์ความรู้ในเรื่องการตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ย เราก็กลับมาดูและปรับปรุงต้นกาแฟในสวนของเราตามคำแนะนำของคณะครูพี่เลี้ยงและวิทยากรจากหน่วยงานรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เราเก็บผลผลิตและส่งให้โรงคั่วในจังหวัดเพื่อทำเป็นแบรนด์ของเราเอง แต่เราก็สมัครใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืนด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรท่านอื่นถึงการพัฒนาคุณภาพกาแฟแบบยั่งยืนที่สามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้อย่างแท้จริง”

Cr. Coffee Traveler

ปัจจุบันคุณเสมีแบรนด์กาแฟของตัวเองชื่อ ‘กาแฟภูเขาไร่สมบูรณ์สุข’ และทำควบคู่ไปกับการส่งกาแฟให้กับทางสหกรณ์ฯ เพื่อให้ทางสหกรณ์มีรายได้สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรท่านอื่น อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักของสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกกาแฟและผลไม้ ยางหัก จำกัด คือการขยายผลผลิตของสมาชิกและควบคุมคุณภาพเข้าสู่ตลาดที่เป็นตลาดกาแฟโรบัสตาคุณภาพ โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพซึ่งให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการส่งผลผลิต เพื่อควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “กาแฟดีต้องดีตั้งแต่ราก” ถือเป็นการร่วมมือกันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกกาแฟและผลไม้ ยางหัก จำกัด และกลุ่มสถานีพัฒนากาแฟยางหักอย่างยั่งยืนที่ทำงานร่วมกันกับทางสหกรณ์ได้อย่างดี จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมุ่งมั่นในเส้นทางการพัฒนาคุณภาพกาแฟโรบัสตาอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทำให้เป้าหมายของการเป็นกาแฟโรบัสตาคุณภาพอย่างยั่งยืนของตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน


มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพซึ่งให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการส่งผลผลิต เพื่อควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “กาแฟดีต้องดีตั้งแต่ราก”

 

Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ - - - สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler Instagram : coffeetraveler_magazine Youtube : Coffee Traveler Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

399 views0 comments

Comentarios


bottom of page