" เพราะปัจจุบันโลกเราร้อนขึ้น กาแฟที่เคยปลูกแบบเดิม ด้วยวิถีเดิม เขาเริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว เราจึงต้องมีความรู้และข้อมูลใหม่ ๆ จากนักวิชาการเพื่อนำมาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ "
กว่า 300 กิโลเมตร คือระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอบนดอยสูง ใช้ระยะเวลาในการเดินทางกว่า 7 ชั่วโมงจากตัวเมือง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน หากแต่ในผืนป่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่มีศักยภาพ ได้รับรางวัลจากการประกวดกาแฟในระดับประเทศทุกปี
บ้านหม่าโอโจ เป็นหมู่บ้านพี่น้องปกาเกอะญอ ที่อยู่ลึกเข้าไปใน ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ชาวปกาเกอะญอมีวิถีชีวิตในการอยู่ร่วมกับป่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผืนป่าแม่ตื่นจึงเปรียบเสมือนบ้านที่พวกเขาต้องคอยปกปักรักษา ชาวบ้านที่นี่ปลูกกาแฟกันมานานหลายสิบปีแล้ว กาแฟที่ปลูกจึงอยู่ภายใต้ร่มไม้ในป่าลึกของ อ.แม่ตื่น และเป็นการปลูกที่ไม่ได้ใช้สารเคมี ตามวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกับป่าของชาวปกาเกอะญอ กาแฟของหมู่บ้านหม่าโอโจจึงเป็นกาแฟอินทรีย์ที่เติบโตใต้ร่มเงาไม้ในป่าบนดอยสูง ทำให้มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับจากผู้ดื่มกาแฟทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบอนกาแฟก็ให้ความสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรไทยโดยการรับซื้อสารกาแฟจากหมู่บ้านหม่าโอโจ ผ่านมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDF) มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี
พัฒนาต่อยอดจากสารตั้งต้นที่ดี
แม้คุณภาพของต้นกาแฟ และผลผลิตกาแฟจะดีเพราะพื้นที่ปลูกดีและไม่ใช้สารเคมี แต่การพัฒนาศักยภาพให้ดีมากยิ่งขึ้นย่อมต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายส่วน โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการปลูกกาแฟที่มีมากขึ้นทุกวัน ที่ผ่านมามูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDF) จึงเข้ามาช่วยดูแล และร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อนำบุคลากรที่มีความรู้ด้านต่าง ๆ มาช่วยให้ความรู้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพื่อพัฒนากาแฟของหม่าโอโจให้ดีขึ้น บอนกาแฟ จึงได้มีโอกาสร่วมมือกับ ITDF เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนากาแฟของหมู่บ้านหม่าโอโจในครั้งนี้ นำทีมโดย คุณต้น กมลวรรจน์ โตบุญช่วย Coffee
Development Manager ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์กาแฟของบอนกาแฟประเทศไทยในฐานะ Coffee Expert ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ
“เพราะปัจจุบันโลกเราร้อนขึ้น กาแฟที่เคยปลูกแบบเดิม ด้วยวิถีเดิม เขาเริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว เราจึงต้องมีความรู้และข้อมูลใหม่ ๆ จากนักวิชาการเพื่อนำมาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ของหม่าโอโจก็เป็นหนึ่งในแปลงปลูกกาแฟที่ทาง ITDF รับซื้อกาแฟเพื่อนำมาจำหน่ายต่อให้กับบอนกาแฟ เราจึงมาช่วยพัฒนาคุณภาพ และให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรยั่งยืน”
โดยในระหว่างวันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท บอนกาแฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับเชิญจากมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน ในการส่งวิทยากรของบริษัทเพื่อเข้าร่วมส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนในการดูแลรักษาแปลงปลูกกาแฟ ทั้งเรื่องการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่มีความแข็งแรงในพื้นที่ การจัดการกล้าพันธุ์ก่อนการนำไปปลูก เข้าแปลงปลูกเพื่อตรวจสุขภาพต้นไม้ในพื้นที่ จนพบปัญหากล้าพันธุ์ที่ระบบรากไม่สมบูรณ์ การตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม การรบกวนจากหนอนเจาะลำต้น มอดกาแฟที่กำลังสร้างความเสียหายกับผลผลิต จึงได้ทำการแนะนำ อธิบายปัจจัย และวิธีการประเมิน ร่วมกันทดลองจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับสวนกาแฟในหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนได้เข้าใจและกล้าที่จะทำการตัดแต่งกิ่ง และรื้อต้นไม้ในแปลงที่เป็นโรคออกจากพื้นที่ เพราะแต่เดิมแม้ว่าเกษตรกรจะพบความผิดปกติแต่ก็ไม่ทราบสาเหตุ และไม่กล้าตัดต้นกาแฟทิ้ง
“ช่วงนี้หมู่บ้านหม่าโอโจกำลังพัฒนาเรื่องการทำแปลงเพาะต้นกล้าพอดี ซึ่งทางบอนกาแฟเรามีข้อมูลตรงนี้อยู่ จึงเข้ามาช่วยดูแลพร้อมกับแชร์ความรู้เรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น เรื่องศัตรูพืช โรคระบาด แมลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมักจะเจอกันบ้างอยู่แล้ว หากเกษตรกรได้รู้ก่อนก็จะสามารถป้องกันและรู้วิธีแก้ไขก่อนที่โรคจะระบาดไปสู่แปลงอื่น ๆ ได้”
การให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนากาแฟเป็นหนึ่งในภารกิจที่บอนกาแฟทำมาเสมอ นอกจากจะทำให้ได้กาแฟคุณภาพดีส่งต่อไปถึงผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ให้เกษตรกรสามารถปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่เลี้ยงชีพตัวเองได้อย่างยั่งยืน
" เรามาช่วยพัฒนาคุณภาพ และให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรยั่งยืน "
Comments