" ตั้งแต่มีการปลูกกาแฟ สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านก็ดีขึ้น เพราะเราไม่ต้องไถที่ ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า เราปลูกกาแฟท่ามกลางธรรมชาติ ปลูกต้นไม้เสริมกับไม้พี่เลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกหลายต้น "
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอกว่า 100 ครัวเรือน อาศัย“บ้านกองกาย” หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขาของตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งรักษาประเพณีภาษา รวมถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้มาอย่างยาวนาน ซึ่งที่นี่เรามีโอกาสได้พบกับหัวขบวนที่เป็นคนรุ่นใหม่ของคนในพื้นที่ และเป็นผู้ดูแลภาพรวมของ “วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย” อย่างคุณดา (สุทธิดา รัตนพงไพรรักษา), คุณแบะแหละ (ศิริพร โชคเอนกนันท์) และคุณอุทิศ (อุทิศ รัตนพงไพรรักษา) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านกองกาย ที่ให้เกียรติมาช่วยนำทางและบอกเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในหมู่บ้านกองกายให้พวกเราได้รับรู้
“เมื่อก่อนชาวบ้านจะปลูกข้าวกับข้าวโพด หลัก ๆ จะเป็นข้าวโพดที่ปลูกขายในปัจจุบันก็ยังมีการปลูกข้าวโพดอยู่ แต่จะมีกาแฟเข้ามาเสริม ปลูกควบคู่กันไป” คุณดา อาสาพัฒนาชุมชน (อสพ.) ภายใต้โครงการศูนย์วิจัยกาแฟชุมชนบ้านกองกายเล่าให้ฟังระหว่างทางที่เต็มไปด้วยต้นไม้สูงที่มีต้นกาแฟอยู่ข้างใต้
บ้านกองกาย เป็นชุมชนชาวปกากะญอบนดอยสูงของอำเภอแม่แจ่ม ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยปลูกข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและปลูกข้าวกับผักเพื่อเอาไว้บริโภคกันเองในครัวเรือน และผลจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาหลายชั่วอายุคน ทำให้สภาพดินที่ใช้ทำการเกษตรเริ่มเสื่อมโทรมลงจนทำให้การปลูกข้าวโพดมาถึงจุดไม่คุ้มทุน ต้นทุนสูงแต่ได้ผลิตตกต่ำ จึงเริ่มมีการมองหาพืชอื่นมาทดแทน ซึ่งตอนแรกยังไม่รู้จะใช้พืชอะไรเพื่อเอามาแทนที่ข้าวโพด เพราะชาวบ้านยังไม่สามารถหาตลาดที่จะขายได้ จนกระทั่งการมาถึงของโครงการ “ศูนย์วิจัยกาแฟชุมชนบ้านกองกาย”
ศูนย์วิจัยกาแฟชุมชนบ้านกองกายเกิดขึ้นเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ เล็งเห็นถึงสภาพปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาดิน ปัญหาป่าไม้ รวมทั้งความเหมาะสมของพื้นที่ภายในหมู่บ้าน หน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง อบต.บ้านทับ กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงภาคเอกชน จึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อต่อยอดจากสิ่งที่เคยมีอยู่ให้กลายเป็นลู่ทางในการพัฒนาและสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในหมู่บ้าน ไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำ ด้วยการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟ และสนับสนุนการปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีคุณสุภพ เทพวงศ์ หรืออาจารย์แม้ว นักวิชาการด้านพืชกาแฟ ที่ปรึกษาในโครงการ 4 พื้นที่ต้นน้ำขึ้นมาให้ความรู้และติดตามผลถึงหมู่บ้านกองกายในทุก ๆ เดือน ซึ่งนั่นจึงทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกและดูแลรักษาต้นกาแฟได้อย่างถูกต้อง และส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ในปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 ครัวเรือนและมีแนวโน้มที่จะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอีกเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านกองกายได้มากขึ้นไปอีกในอนาคต
แปลงกาแฟใต้ร่มไม้
กาแฟที่ผลิตภายใต้วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย จะเป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา อาทิ คาทูร์รา คาทุย และทิปิก้า ที่ถูกปลูกในแปลงที่อยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ในสภาพป่าธรรมชาติในระดับความสูงราว 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งการปลูกแบบนี้จะส่งผลดีต่อผลเชอร์รีกาแฟ เพราะกาแฟอาราบิกาเป็นกาแฟที่ชอบร่มเงามากกว่าแสงแดด ดังนั้น ผลเชอร์รีกาแฟที่อยู่ในแปลงที่อยู่ในร่มเงาจึงให้ผลผลิตที่ดีกว่าแปลงที่อยู่กลางแจ้ง นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศโดยรอบ นอกจากต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว ยังมีบางแปลงที่มีการปลูกกาแฟผสมสานกับไม้พี่เลี้ยงที่มีการเอามาปลูกเพิ่มเพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ต้นกาแฟ และเป็นพืชต้นแบบเพื่อส่งเสริมพืชมูลค่าสูง อย่างกล้วย พลับ แมคคาเดเมีย และอะโวคาโดอีกด้วย
ในด้านของผลผลิตนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในระดับดี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี เพราะด้วยสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งในด้าน
สภาพอากาศและความชื้น ทำให้เติบโตได้อย่างเต็มที่ กาแฟที่นี่จะสะสมสารอาหารนาน 7 - 9 เดือนจนสุกกล่ำ เพื่อเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ของทุก ๆ ปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่กาแฟจะอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ เหมาะแก่การนำไปแปรรูปมากที่สุดโดยชาวบ้านกองกายจะเก็บเชอร์รีจากต้นกาแฟที่ขึ้นเรียงรายอยู่ใต้เงาไม้ใหญ่ดั้งเดิม จากนั้นจะทำการรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งไปยังวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปแปรรูปด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะมีการนำเมล็ดกาแฟเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทันที เพื่อให้กาแฟที่เก็บเกี่ยวไว้คงคุณภาพเอาไว้ได้มากที่สุด
ในด้านของผลผลิตนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในระดับดี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี เพราะด้วยสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งในด้านสภาพอากาศและความชื้น ทำให้เติบโตได้อย่างเต็มที่ กาแฟที่นี่จะสะสมสารอาหารนาน 7 - 9 เดือนจนสุกกล่ำ เพื่อเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ของทุก ๆ ปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่กาแฟจะอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ เหมาะแก่การนำไปแปรรูปมากที่สุดโดยชาวบ้านกองกายจะเก็บเชอร์รีจากต้นกาแฟที่ขึ้นเรียงรายอยู่ใต้เงาไม้ใหญ่ดั้งเดิม จากนั้นจะทำการรวบรวมผลผลิตเพื่ส่งไปยังวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปแปรรูปด้วยวิธีการต่าง ๆโดยหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะมีการนำเมล็ดกาแฟเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทันที เพื่อให้กาแฟที่เก็บเกี่ยวไว้คงคุณภาพเอาไว้ได้มากที่สุด
“ตั้งแต่มีการปลูกกาแฟ สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านก็ดีขึ้น เพราะเราไม่ต้องไถที่ ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า เราปลูกกาแฟท่ามกลางธรรมชาติ ปลูกต้นไม้เสริมกับไม้พี่เลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกหลายต้น เพราะมันไม่ใช่แค่การปลูกกาแฟ แต่เราอยากรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”คุณอุทิศ ผู้ช่วยผู้ใหญ่และหนึ่งในคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกายกล่าว
แปรรูปสู่สุดยอดกาแฟไทย
โรงแปรรูปกาแฟของหมู่บ้านกองกายเป็นโรงกลางแจ้งบนพื้นที่ 1 งาน สมาชิกในโครงการจะนำผลผลิตที่ได้มาส่งที่โรงนี้เพื่อนำมาแปรรูปด้วยกระบวนการแปรรูปที่เหมาะสมกับกาแฟกองกายโดยก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแปรรูป เกษตรกรจะนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปลอยน้ำเพื่อคัดเมล็ด โดยมีบริษัทรับซื้อไว้ทั้งหมดในราคาตลาด ซึ่งเงินส่วนนี้จะเป็นของเกษตรกรเจ้าของกาแฟ ส่วนเมล็ดลอยที่ถูกแยกออกไปนั้น ทางวิสาหกิจจะมีการเก็บเอาไว้เพื่อนำไปปันผลอีกรอบ ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ก็จะเป็นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ส่วนเมล็ดจมที่ถูกรับซื้อก็จะถูกนำไปล้างทำความสะอาดเพื่อนำไปลอกเปลือกนอกด้วยเครื่องสี ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปในกรรมวิธีต่าง ๆ ต่อไป
กระบวนการแปรรูปที่บ้านกองกายใช้หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 วิธี คือ กรรมวิธีแบบเปียก (Wash Process) วิธีแบบแห้ง (Dry Process) ที่จะให้กลิ่นและรสชาติดั้งเดิมของบ้านกองกายอย่างชัดเจน และสุดท้ายคือการแปรรูปด้วยการหมักโดยไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Process) ซึ่งในกระบวนการ Anaerobic นั้น จะมีการควบคุมทั้งอุณหภูมิและความชื้นตลอดระยะเวลาการหมัก และนั่นจึงทำให้ในปัจจุบัน นอกจากองค์ความรู้แล้ว บ้านกองกายยังได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การแปรรูปกาแฟจากหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแลอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา จึงทำให้การแปรรูปกาแฟภายในหมู่บ้านทำได้อย่างมีคุณภาพ และสามารถสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ มีการปลูกกาแฟรวมกันแล้วมากกว่า 100 ไร่ มีผลผลิตในปีที่แล้วมากกว่า 17,000 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าในรุ่นถัดไปจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน
ด้วยความทุ่มเทของหน่วยงานต่าง ๆ และคนในชุมชน จึงทำให้กาแฟจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกองกายคว้ารางวัล อันดับ 12 การประกวดสุดยอดกาแฟไทยของกรมวิชาการเกษตร ประเภท Washed process และรางวัลอันดับที่ 4 และ 5 จากการประกวดสุดยอดกาแฟประเภทกระบวนการแปรรูปโดยวิธีนวัตกรรม(Innovative Process) มาได้ ด้วยความตั้งใจของทีมงานและชาวบ้าน โดยคัดเลือกกาแฟจากแปลงปลูกที่ให้ผลผลิตที่ดีที่สุดและมีคุณภาพที่สุด เพื่อส่งเข้าประกวดในนามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกองกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มวิสาหกิจภาคภูมิใจอย่างมาก
การแปรรูปโดยใช้นวัตกรรม (Innovative Process) ของบ้านกองกาย เป็นการแปรรูปด้วยการหมักด้วยยีสต์ พร้อมกับควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เมล็ดกาแฟที่ได้มีรสชาติที่ดีขึ้น และแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟบ้านกองกายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยว่าเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการนี้จะออกสู่ตลาดหรือไม่ และจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เพราะนับเป็นปีแรกที่บ้านกองกายทดลองการแปรรูปโดยใช้นวัตกรรม
“กาแฟบ้านกองกายจะมีเทสโน้ตเป็นกลิ่นผลไม้ผสมผสานกันระหว่างบลูเบอร์รี พีช และสตรอว์เบอร์รี เพราะพื้นที่บ้านกองกายจะเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เทสโน้ตที่ได้จึงมีกลิ่นอายของผลไม้ป่าอยู่”
กาแฟจะสามารถทดแทนข้าวโพดได้หรือไม่ ?
เรามีโอกาสได้คุยกับคุณยายสุคา แปะโพ เจ้าของแปลงกาแฟที่ถูกคัดเลือกให้ส่งเข้าประกวดสุดยอดกาแฟไทย คุณยายสุคาเป็นเจ้าของแปลงกาแฟกว่า 1 ไร่ 2 งาน โดยตัวคุณยายเข้าร่วมโครงการปลูกกาแฟมาตั้งแต่รุ่นแรกในปี 2560 ซึ่งตอนนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 6 แล้ว ผลผลิตจากแปลงกาแฟของคุณยายนั้นอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากคุณยายเอาใจใส่ดูแลแปลงของตัวเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ทำเลที่ตั้งของแปลงก็ยังมีสภาพเหมาะสม ทั้งร่มไม้และแร่ธาตุในดิน และเพราะเหตุนี้เองจึงทำให้แปลงกาแฟของคุณยายสุคา เป็นหนึ่งในแปลงกาแฟที่ให้ผลผลิตดีมากที่สุดในหมู่บ้าน จนบางปีคุณยายสามารถทำเงินได้ถึง 20,000 บาทเลยทีเดียว และนั่นก็ไม่ใช่ตัวเลขที่มากที่สุด เพราะแปลงกาแฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านสามารถทำเงินได้สูงถึง 50,000 บาท ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในหมู่บ้านกองกาย
“ชาวบ้านเริ่มสนใจการปลูกกาแฟมากขึ้น เพราะการปลูกกาแฟเป็นการลงทุนครั้งเดียว แต่ได้ผลผลิตเป็นสิบปี ไม่เหมือนข้าวโพดที่ต้องปลูกใหม่ทุกปี” คุณแบะแหละเล่าเสริม ซึ่งตัวคุณแบะแหละเอง ก็เคยทำงานอยู่ในเมือง แต่เพราะค่าใช้จ่ายที่สูง จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านกองกาย และด้วยความที่เป็นเกษตรรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน คุณแบะแหละจึงเป็นอีกหนึ่งคนที่จะคอยดูแลและสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานของวิสาหกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
กาแฟบ้านกองกายคือสิ่งพิสูจน์ว่าคนกับป่าสามารถพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกันและกันได้ และยังสามารถพิสูจน์ได้ว่า การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาของป่า นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยกันดูแลป่าไปพร้อม ๆ กัน และด้วยการจัดการที่ดีตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ในปัจจุบันกาแฟบ้านกองกายเป็นหนึ่งในกาแฟคุณภาพสูงที่ออกสู่ตลาด ผลพลอยได้ต่อมาคือการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยในปัจจุบันเกษตรกรรุ่นใหม่ในหมู่บ้านหลายคนก็เริ่มมีความคิดที่จะหันมาปลูกกาแฟเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวในระยะยาว แม้ตอนนี้กาแฟจะยังเป็นเพียงพืชเสริม เพราะยังไม่สามารถทดแทนข้าวโพดที่ปลูกกันมานานได้ แต่คิดว่าอีกไม่นาน หากหน่วยงานต่าง ๆ และวิสาหกิจชุมชนฯ ยังคงร่วมมือกันต่อไปเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตปัญหาสภาพป่าและดินเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในหมู่บ้านกองกายจะต้องคลี่คลายอย่างแน่นอน
" ชาวบ้านเริ่มสนใจการปลูกกาแฟมากขึ้น เพราะการปลูกกาแฟเป็นการลงทุนครั้งเดียว แต่ได้ผลผลิตเป็นสิบปี ไม่เหมือนข้าวโพดที่ต้องปลูกใหม่ทุกปี "
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comentarios