top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

คืนวันพระจันทร์เต็มดวง กับความเชื่อเรื่องรสชาติกาแฟ

Updated: Oct 11, 2022


ความเชื่อว่าการเก็บกาแฟในคืนพระจันทร์เต็มดวงนั้น จะส่งผลทำให้รสชาติของกาแฟดีขึ้นต่างไปจากเดิม จนทำให้เกษตรกรกาแฟให้ความสนใจกับข้อมูลนี้ และลองใช้เก็บผลผลิตของตัวเองในคืนพระจันทร์เต็มดวงกันมากมาย จนเป็นกระแสนิยมกันอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้ก็ยังมีเกษตรกรหลายท่านยังคงใช้วิธีหรือความเชื่อนี้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟของตัวเองอยู่


อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องราวพิเศษซ่อนไว้ในแนวคิดนี้มากมาย คุณลักษณะแบบนี้ อาจเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาวงการกาแฟให้มีความพิเศษ มีเอกลักษณ์ที่หลากหลาย และเพื่อให้เกิดรูปแบบที่ครอบคลุม ถูกต้อง ชัดเจน จึงจำเป็นต้องตั้งอยู่บนหลักการและมีความแม่นยำในเรื่องของข้อมูล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มมูลค่าของกาแฟให้ดียิ่งขึ้น


ความเชื่อเกี่ยวกับดวงจันทร์นั้น มีมาแต่โบราณ เราจะสังเกตได้จากการนับปฏิทินในอดีต ก็อาศัยดวงจันทร์เป็นเกณฑ์ หรือเรียกกันว่า การดูข้างขึ้น ข้างแรม (จันทรคติ) และการเกิดน้ำขึ้นหรือน้ำลง ชาวจีนโบราณจะอาศัยดูจากดวงจันทร์เป็นหลัก เพื่อการเพาะปลูก รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต


คนจีนในสมัยก่อนมีความเชื่อเรื่องการเก็บใบชาในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าเราหาเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ ก็จะสามารถตอบเราได้ว่า ในช่วงเวลานั้น ยอดใบชาแรกที่อัดอั้นมานานตลอดช่วงฤดูหนาว ทำให้ใบชามีคุณค่า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ พวกเขาได้ผูกวิถีชีวิตเข้าไว้ไปด้วยกัน จึงทำให้การเก็บยอดใบชาในคืนพระจันทร์เต็มดวงนี้ เป็นวัฒนธรรมพิเศษขึ้นมา


คำว่า “วัฒนธรรม” หมายถึงรูปแบบของกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น มีทั้งวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม โดยมีโครงสร้างลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และรูปแบบของการกระทำแบบมีระบบ รวมถึงโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดมีรูปแบบไม่เหมือนใคร ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย ตามความเหมาะสม ซึ่งวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง สามารถแสดงออกผ่านได้หลายทาง เช่น ดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ ไปจนถึงเรื่องการบริโภค และกระบวนการผลิตสินค้า หรือการสร้างความหมายแก่สินค้า เพื่อให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะขึ้นมา



การเก็บกาแฟในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงก็เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ และน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการเก็บยอดชาของคนจีนในสมัยก่อน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมโบราณที่มีการปฏิบัติสืบต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2,000 ปี โดยอาศัยหลักการ “First Full Moon” หรือก็คือพระจันทร์เต็มดวงแรกของฤดูใบไม้ผลิ เพราะชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอากาศหนาว เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ยอดชาก็เริ่มผลิแตกหน่อใบออกมา จึงต้องรีบเก็บในช่วงนี้ เพราะไม่เช่นนั้น ยอดใบชาจะเสียรสชาติ ไม่อร่อย จึงเป็นฤดูกาลของการเก็บใบชาแรก จนก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการเก็บยอดใบชาในคืนพระจันทร์เต็มดวงขึ้นมานั่นเอง


โดยทั่วไปกาแฟแต่ละชนิดจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ทำให้กาแฟที่ปลูกในสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน จึงส่งผลให้กาแฟแต่ละถิ่นเกิดลักษณะเฉพาะตัว เช่น รสชาติ กลิ่น ซึ่งลักษณะรสชาติของกาแฟนั้น ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ปลูกเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ กระบวนการแปรรูป และอื่น ๆ อีกมากมาย นั่นคือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ตอบได้จริง แต่สำหรับช่วงเวลา Full Moon หรือในคืนพระจันทร์เต็มดวง ก็มีผลต่อพืชบางชนิดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการปลูกฟักทองสายพันธุ์บิ๊ก


มูนในช่วงเดือนธันวาคมที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่บริเวณละติจูดทางตอนใต้ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวจะมีระยะเวลาช่วงกลางวันที่ค่อนข้างสั้น พระอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็วกว่าปกติ พืชจึงได้รับอิทธิพลจากเวลากลางคืนมากกว่า 12 ชั่วโมง ส่งผลให้ลูกฟักทองโตกว่าปกติ บางลูกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 145 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 800 กิโลกรัมทีเดียว


นอกจากนี้ การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการเพาะเมล็ดประเภทผักและสมุนไพรพบว่า การหว่านเมล็ดลงดินก่อนแรงดึงดูดดวงจันทร์จะแรงที่สุดในรอบเดือน หรือก่อนพระจันทร์เต็มดวง 2 - 3 วัน (ช่วงวันแรม 13 หรือ 14 ค่ำ) แรงดึงดูดของดวงจันทร์ที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนมากกว่าแรงดึงดูดของโลก สังเกตได้จากปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง จะช่วยให้พืชได้รับสารอาหารดีขึ้น และจะไปช่วยกระตุ้นการเติบโตส่วนของราก (ส่วนใต้ดิน) แต่ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของแสงจันทร์ก็จะช่วยกระตุ้นการเติบโตส่วนใบและลำต้นด้วยเช่นกัน (ส่วนเหนือดิน)



แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ และการไหลของกระแสน้ำในชั้นใต้ดิน ช่วงข้างขึ้น ข้างแรม

มีผลดีต่อการขยายตัวของราก ลำต้น และกิ่งก้าน


งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุไว้ว่า ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นตัวกำหนดทางสัณฐานวิทยา และพัฒนาการของพืช ตัวอย่างในงานวิจัย “The moon and the growth of plants” ของ L,Kolisko นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรีย พบว่า การหว่านเมล็ดพืชตระกูลผักลงตามแต่ละช่วงของดวงจันทร์ หรือช่วงเวลาข้างขึ้น ข้างแรม มีผลต่อการงอก เช่น หากเราหว่านเมล็ดผักลงไปในดิน วันขึ้น 14 ค่ำ ในช่วงนี้แรงดึงดูดของดวงจันทร์จะเพิ่มสูงขึ้นและแสงจันทร์จะสว่างกว่าวันอื่น ๆ ก็จะช่วยส่งแรงกระตุ้นให้เมล็ดพืชที่ยังไม่งอกในช่วงขึ้น 1 ค่ำ กลับมางอกในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง และทำให้รากขยายตัว จนสามารถดูดซับสารอาหารมาเลี้ยงส่วนของใบและลำต้นได้เป็นอย่างดี


สอดคล้องกับงานวิจัยของ Peter W. Barlow (1809 - 1885) นักวิศวกรโยธาชาวอังกฤษ ผู้สนใจเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อพืชพบว่า แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ และการไหลของกระแสน้ำในชั้นใต้ดิน ช่วงข้างขึ้น ข้างแรม มีผลดีต่อการขยายตัวของราก ลำต้น และกิ่งก้าน เพราะว่าการเคลื่อนที่ของน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้พืชหรือต้นไม้ที่อยู่บนพื้นที่สูง ได้รับสารอาหารในน้ำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกบนระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตร ขึ้นไป เพราะการไหลของน้ำบนที่สูงจะแตกต่างจากการไหลของน้ำบนพื้นราบ เพราะมีแรงดึงดูดจากโลกไม่เท่ากัน เมื่อพระจันทร์เต็มดวง แรงดันของโลก จะดันน้ำในชั้นใต้ดินให้สูงขึ้นตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของสารอาหารในพืช ซึ่งบริเวณที่มีการดูดน้ำมากที่สุด คือ บริเวณขนราก (Root Hair Zone) จะมีเซลล์ส่วนรากทำหน้าที่สําคัญในส่วนนี้ และน้ำในดินจะเคลื่อนที่มาที่ผิวราก โดยกระบวนการ Mass Flow การเคลื่อนที่ของน้ำที่ถูกดันเข้าไปโดยอาศัยแรงโนมถ่วงของโลก จะทำให้พืชดูดซับได้ดี


จากงานวิจัยนี้ สรุปได้ว่า แรงดันจากรากเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะดันให้น้ำขึ้นไปถึงยอดที่มีความสูงมาก ๆ ได้ ต้องมีแรงดันอย่างอื่นเข้ามาช่วยดันให้น้ำขึ้นไปด้วย นั่นก็คือแรงจากกระแสน้ำขึ้น น้ำลง นอกจากนี้ ผลจากปรากฏการณ์ข้างขึ้น ข้างแรม ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ช่วยให้พืชดูดซับสารอาหาร น้ำ แร่ธาตุในดินได้ดีกว่าช่วงเวลาในคืนพระจันทร์ปกติ เพราะในคืนพระจันทร์เต็มดวง เป็นเวลาที่เกิดแรงดึงดูดในดวงจันทร์มากที่สุดนั่นเอง


เมื่อเราวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดจะพบว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง คือเวลาที่พืชได้รับสารอาหารดีที่สุด งานวิจัย ก็เป็นเพียงการศึกษาในพืชประเภทผักและสมุนไพรเท่านั้น ส่วนพืชอย่างกาแฟถูกจัดให้อยู่ในตระกูลพืชมีดอก วงศ์ตระกูล Rubiaceae ซึ่งเป็นต้นไม้ประเภทไม่ผลัดใบ จึงยังไม่มีกรณีศึกษาหรืองานวิจัยที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ

แต่ในขณะเดียวกัน ในโลกของงานวิชาการ ก็มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกาแฟและดวงจันทร์โดยตรงอยู่ นั่นก็คือ “Full moonlight - induced circadian clock entrainment in Coffea arabica” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับแสงในคืนพระจันทร์เต็มดวง ที่มีผลกระทบต่อวงจรชีวิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา ซึ่งทีมนักวิจัยทดลองในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมอุณหภูมิ จำลองสภาพอากาศให้มีความใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด ตั้งแต่อุณหภูมิที่เหมาะสม ดินที่ปลูก และการตั้งค่าความสูงจากระดับน้ำทะเลด้วยการใช้เทคโนโลยีควบคุม รวมถึงการเลียนแบบแสงของดวงจันทร์ด้วยไฟ LED โดยใช้หลอดไฟที่ประดิษฐ์ขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นเฝ้าดูและสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อต้นกาแฟ นอกจากนี้ นักวิจัยกลุ่มนี้ยังได้ศึกษาค่าแสงจันทร์ในคืนวันครีษมายัน ซึ่งเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี เพื่อเปรียบเทียบข้อมูล ระหว่างค่ำคืนปกติกับคืนวันพระจันทร์เต็มดวงควบคู่ไปด้วย


ก่อนเริ่มทำการศึกษา ทีม CIRAD ได้ตั้งข้อสมมุติฐานว่า แสงสว่างในคืนพระจันทร์เต็มดวงกับคืนปกติ มีผลกระทบอย่างไรต่อต้นกาแฟ โดยใช้วิธีการแยกห้องทดลองออกเป็น 2 ห้อง เพื่อวิเคราะห์ค่าเคมีที่เปลี่ยนแปลงในระดับชีวโมเลกุลในต้นกาแฟ หรือก็คือสารประกอบเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในสิ่งมีชีวิตพืชและสัตว์ ประกอบไปด้วยธาตุเคมีพื้นฐานที่สำคัญ เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน โดยทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามบทบาท อาทิ สังเคราะห์แสง สังเคราะห์ไขมัน เป็นต้น



โดยงานวิจัยชิ้นนี้ เผยแพร่ลงในวารสาร BMC Plant Biology ปี 2020 โดยทีมนักวิจัย The French Agricultural Research Centre for International Development (CIRAD) หรือศูนย์วิจัยการเกษตรแห่งฝรั่งเศส เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศและทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเขตร้อน เมดิเตอร์เรเนียน นำโดย Benoît Bertrand และ Hervé Etienne ได้สังเกตในห้องทดลอง พบว่า ยีนบางตัวในต้นกาแฟมีความผิดปกติ โดยเฉพาะยีนที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง และเมื่อทำการสุ่มตัวอย่างจากโรงเรือนมาส่องในกล้องจุลทัศน์ มีจำนวนยีน 50 ตัวจาก 3,387 ยีน ทำงานช้าลง


นักวิจัยค้นพบว่า หลังจากการถอดรหัสยีนในกาแฟอาราบิกาจำนวน 3,387 ยีน รูปแบบลักษณะของยีนบางตัวเปลี่ยนไป โดยเฉพาะยีนหลักที่คอยทำหน้าที่ในต้นกาแฟได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง และทำหน้าที่สังเคราะห์แสงไม่เต็มที่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แสงในคืนพระจันทร์เต็มดวง ส่งผลกระทบในด้านลบต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) หรือกระบวนการสร้างอาหารของพืชสีเขียว ในส่วนของต้นกาแฟอีกห้องทดลองหนึ่ง ไม่พบข้อมูลผลหรือค่าเปลี่ยนแปลงในระดับชีวโมเลกุล สรุปก็คือ ในคืนพระจันทร์เต็มดวงนั้น ส่งผลเสียต่อระบบการสังเคราะห์แสงของต้นกาแฟ นอกจากนี้ แสงในคืนพระจันทร์เต็มดวง ยังเป็นความเครียดอีกอย่างหนึ่งของต้นกาแฟอีกด้วย


แม้ว่าแสงในคืนดวงจันทร์เต็มดวงจะส่งผลให้ต้นกาแฟเกิดภาวะความเครียดที่ดูเหมือนจะเป็นผลร้าย แต่ในงานวิจัยระบุข้อมูลว่า เป็นผลดีในเรื่องของรสชาติกาแฟ ซึ่งองค์ประกอบทางเคมีในเมล็ดกาแฟ ตั้งแต่โปรตีนร้อยละ 10 ความชื้นในปริมาณร้อยละ 12 ไขมันร้อยละ 16 คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 50 และสารอื่น ๆ มีโครงสร้างต่างไปจากเดิม


Jean - Christophe Breitler นักพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีม CIRAD ยังกล่าวอีกว่า “จากการวิเคราะห์ยีนในกาแฟ แสดงให้เห็นว่า ต้นกาแฟมองแสงในคืนพระจันทร์เต็มดวงเป็นปัจจัยหนึ่งของความเครียด ที่ขัดขวางวงจรชีวิตของพวกมัน”


ในคืนพระจันทร์เต็มดวงนั้น มีผลต่อการดูดซับแร่ธาตุ สารอาหารในน้ำขึ้นไปสู่ต้น กิ่งก้าน และใบ

แต่อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า จะมีผลต่อเชอร์รีกาแฟในแง่รสชาติ


หลักความเชื่อเรื่อง การเก็บเชอร์รีกาแฟในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงนั้น จะสามารถส่งผลทำให้รสชาติของกาแฟดีขึ้นต่างไปจากเดิม จริงหรือไม่อย่างไร ในวันนี้ ยังไม่มีงานวิจัยที่ออกมาเป็นเอกสารยืนยัน รวมถึงการอธิบายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ยังคงเป็นแค่การใช้หลักการ ความเชื่อ จากการทำงานของพืชทั่วไปว่า ปรากฏการณ์ข้างขึ้น ข้างแรม ในคืนพระจันทร์เต็มดวงนั้น มีผลต่อการดูดซับแร่ธาตุ สารอาหารในน้ำขึ้นไปสู่ต้น กิ่งก้าน และใบ แต่อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า จะมีผลต่อเชอร์รีกาแฟในแง่รสชาติ เพราะในงานวิจัยที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีอธิบายไว้ ซึ่งในสารบาญฐานข้อมูลวิจัยโลก มีเพียงแค่หลักการที่บอกไว้ว่า การทำงานของแสงในคืนพระจันทร์เต็มดวงมีผลต่อรสชาติกาแฟเท่านั้น

 

เอกสารอ้างอิง


Full moonlight-induced circadian clock entrainment in Coffea arabica . BMC Plant Biology. (2020)


J-C. Breitler, D. Djerrab, S. Leran, L. Toniutti, C. Guittin, D. Severac, M. Pratlong, A. Dereeper, H. Etienne and B. Bertrand.


Influence on photosynthesis of starlight, moonlight, planetlight and light pollution (reflections on photosynthetically active radiation in the universe). Journal Article Astrobiology. (2006)


Raven JA, Cockell CS.


 

Coffee Traveler


เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ


และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ


- - -


สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler



Youtube : Coffee Traveler



332 views0 comments

Yorumlar


bottom of page