top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

“บ้านสามหมื่น” หมู่บ้านแห่งสายสัมพันธ์ที่นำไปสู่การพัฒนากาแฟที่ยั่งยืน



4 ชนเผ่า 1 หมู่บ้าน 1 กลุ่มกาแฟ บ้านสามหมื่น หมู่บ้านที่ความแตกต่างไม่ได้สร้างความแตกแยก หมู่บ้านสามหมื่น หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาสูงและป่าไม้อันเขียวชอุ่ม ที่เป็นรอยต่อของทั้ง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหงจังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรอาศัยอยู่ราว ๆ 130 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ พ่อหลวงบ้านสามหมื่น (ยงยุทธ หรี่จา) ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประวัติและเหตุที่คนเรียกว่าบ้านสามหมื่นว่า เดิมทีก่อนที่ชนเผ่าลีซอจะเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านสามหมื่น ได้มีชนเผ่าอื่นมาอาศัยก่อนคือ ม้ง มูเซอดำ และภายหลังได้มีคนจีนอพยพปะปนเข้ามาอยู่ และได้เรียกที่แห่งนี้ว่า ซางเหมิน ซึ่งแปลว่าประตูทั้งสามบาน กล่าวคือ พื้นที่ของบ้านสามหมื่นมีอาณาเขตติดต่อของสามอำเภอ จึงเรียกได้ว่าพื้นที่บ้านสามหมื่นเปรียบเสมือนเป็นพื้นที่หรือประตูที่เชื่อมต่อพื้นที่ทั้งสามอำเภอนั่นเอง ชาวบ้านละแวกนั้นจึงเรียกติดปากว่า ซางเหมิน และกลายมาเป็นสามหมื่นในภายหลัง ต่อมาชนเผ่าม้งและมูเซอดำได้อพยพออกไป และชนเผ่าลีซอได้เริ่มเข้ามา หลังจากนั้นคนจีนก็อพยพตามเข้ามามากขึ้น พร้อมทั้งไทใหญ่และดาราอั้งก็อพยพย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ร่วมกัน ด้วยความที่ชนเผ่าทั้ง 4 มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นของตนเองอยู่แล้ว ทำให้มีความแตกต่างทางด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งเดิมทีความแตกต่างดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการอาศัยอยู่ร่วมกันของทั้ง 4 ชนเผ่าอยู่บ้าง ชาวบ้านจึงช่วยกันคิดหาวิธีในการอาศัยอยู่ร่วมกันและเสมอภาคมากที่สุด ซึ่งได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้ใดก็ตามที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านสามหมื่น จะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่ว่าจะมาจากชนเผ่าไหนหรือชาติใด และหากมีกิจกรรมทางศาสนาของชนเผ่าไหนจะต้องให้ความร่วมมือ


"เมื่อถึงเทศกาลหรือมีกิจกรรมของชนเผ่าใดก็ตาม ชนเผ่าอื่นจะมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลนั้น ๆ เราจะไม่กีดกันความเชื่อหรือวัฒนธรรมของกันและกัน"


พ่อหลวงยังบอกอีกว่า “หมู่บ้านสามหมื่นมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ที่นี่เมื่อถึงเทศกาลหรือมีกิจกรรมของชนเผ่าใดก็ตาม ชนเผ่าอื่นจะมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลนั้น ๆ เราจะไม่กีดกันความเชื่อหรือวัฒนธรรมของกันและกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าชาวบ้านเข้าใจในความแตกต่างค่อนข้างดี และเรายังคงแข็งแรงในเรื่องการเป็นหนึ่งเดียวกันมาตั้งแต่สมัยโน้นจนถึงทุกวันนี้”เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมของทั้งหมู่บ้านที่ยังคงสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว


เรามีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับเทศกาลตรุษจีนของบ้านสามหมื่น ซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่ของชนเผ่าลีซอและจีน โดยจะมีพิธีการบางอย่างที่แตกต่างจากตรุษจีนของไทยที่เห็นกันทั่วไป ที่บ้านสามหมื่นจะยังคงไว้ซึ่งประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมาอย่างประเพณีการตำข้าวปุกและประเพณีการเต้นจะคึ เพื่อไล่สิ่งไม่ดีออกไปจากบ้านและเคารพบรรพบุรุษ ซึ่งการเต้นจะคึของบ้านสามหมื่นจะเต้นล้อมรอบต้นสนที่ตั้งไว้หน้าบ้าน ซึ่งเป็นประเพณีที่เก่าแก่จากเดิมที่สืบทอดต่อกันมา โดยพ่อหลวงได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเหตุที่จะต้องตั้งต้นสนไว้หน้าบ้านว่า การตั้งต้นสนไว้หน้าบ้านเป็นความเชื่อดั่งเดิมของคนในหมู่บ้านที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยก่อนมียักษ์ตนหนึ่งที่ออกล่าหากินคร่าชีวิตมนุษย์ อยู่มาวันหนึ่งยักษ์ตนนั้นได้รับความช่วยเหลือจากชนเผ่าลีซอหรือว่าชนเผ่าจีน หลังจากนั้นทางชนเผ่าได้ทำข้อตกลงกับยักษ์ตนนั้นว่า ไม่ให้จับคนของชนเผ่ากินเป็นอาหาร เนื่องจากในบริเวณนั้นมีหลายชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกัน ยักษ์จึงบอกชนเผ่าลีซูว่าในคืนที่ตนเข้าไปไหนหมู่บ้านเพื่อจับมนุษย์มากินเป็นอาหาร ให้คนของชนเผ่าลีซอตั้งต้นไม้ไว้หน้าบ้านของตนเอง จะได้เป็นสัญลักษณ์ว่าบ้านนั้นมีชนเผ่าลีซออาศัยอยู่ ยักษ์จะไม่เข้าไปกินหรือทำร้ายคนในบ้านนั้น ๆ และอีกความเชื่อหนึ่งก็คือการตั้งต้นไม้ไว้หน้าบ้าน เพื่อให้คนมาเต้นเฉลิมฉลองหลังจากที่ไปรบชนะกลับมา ในปัจจุบันการตั้งต้นสนของคนในหมู่บ้านสามหมื่นนั้นไม่ได้ทำแค่ในเฉพาะเผ่าลีซอหรือจีนเท่านั้น แต่จะตั้งไว้ทุกบ้านในหมู่บ้าน เพื่อที่คนในหมู่บ้านทุกคนสามารถเข้าร่วมประเพณีการเต้นจะคึได้จนครบทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าเป็นชนเผ่าอื่นหรือนับถือศาสนาใดก็ตาม


“ทุกคนในหมู่บ้านต่างยินดีที่จะออกมาเต้นจะคึไม่เว้นแม้แต่ชนเผ่าไทใหญ่หรือดาราอั้งที่ไม่ใช่ประเพณีหลักของตัวเอง ก็มาร่วมเต้นจะคึด้วย เพราะถือเป็นการให้เกียรติพี่น้องชนเผ่าอื่น ๆ ที่เข้าร่วมพิธี ในส่วนของภาษาเดิมทีแต่ละชนเผ่าก็มีภาษาเป็นของตนเอง แต่เนื่องจากในพื้นที่มีชนเผ่าลีซออาศัยอยู่มากกว่าชนเผ่าอื่น จึงส่งผลต่ออิทธิพลการใช้ภาษาในหมู่บ้านด้วย แต่เมื่อมีภาษาไทยที่เข้ามาเป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างแต่ละชนเผ่า ทำให้ในปัจจุบันชาวบ้านหลายคนจึงพูดได้ทั้งภาษาของชนเผ่าตนเอง ภาษาของชนเผ่าลีซอ และภาษาไทย”


"พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นำกาแฟเข้ามาปลูกในพื้นแห่งนี้ หากชาวบ้านหรือเกษตรกรหันมาปลูกกาแฟจะเป็นการรักษาป่าไม้ไปในตัว เนื่องจากกาแฟเป็นพืชที่ต้องอาศัยร่มเงาของต้นไม้ในการเจริญเติบโต ทั้งยังลดปริมาณการปลูกฝิ่น"


ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านหมู่บ้านสามหมื่นช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด ถึงแม้จะมาจากต่างวัฒนธรรมหรือต่างภาษาชาวบ้านก็ยินดีที่จะช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยก ทำให้เห็นความรักใคร่กลมเกลียวเหมือนพี่เหมือนน้องได้อย่างชัดเจน จากการช่วยเหลือกันทางด้านวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ และเมื่อเวลาผ่านไป ความสามัคคีที่เกิดขึ้นได้ถูกพัฒนามาเป็นการเกื้อกูลในด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวบ้านเองก็ต่างช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนในหมู่บ้านสามหมื่นให้ดีขึ้น โดยที่บ้านสามหมื่นประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก พ่อหลวงเล่าให้ฟังว่า เดิมทีชาวบ้านต่างก็ทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยส่งขายในเมือง บ้างก็ปลูกฝิ่น ไม่ได้มีการรวมกลุ่มกันมากเท่าไหร่นัก ต่อมาในหลวงราชกาลที่ 9 ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมา ณ บ้านสามหมื่น และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นบนพื้นที่สูงและเพิ่มปริมาณป่าไม้ในพื้นที่ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นำกาแฟเข้ามาปลูกในพื้นแห่งนี้ หากชาวบ้านหรือเกษตรกรหันมาปลูกกาแฟจะเป็นการรักษาป่าไม้ไปในตัว เนื่องจากกาแฟเป็นพืชที่ต้องอาศัยร่มเงาของต้นไม้ในการเจริญเติบโต ทั้งยังลดปริมาณการปลูกฝิ่น ถึงแม้ในสมัยนั้นราคาของกาแฟไทยยังไม่สูงมากนัก แต่ในวันนี้เป็นที่รู้กันดีในวงการกาแฟว่า พื้นที่บ้านสามหมื่นเป็นอีกแหล่งปลูกกาแฟในประเทศไทยที่ให้ผลผลิตดีอย่างมาก หลังจากที่ในหลวงราชการที่ 9 ทรงเสด็จริเริ่มการปลูกกาแฟในพื้นที่บ้านสามหมื่นแล้ว ต่อมาชาวบ้านในหมู่บ้านได้ร่วมกันต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังร่วมกันพัฒนาทั้งกระบวนการปลูก การ Process รวมไปถึงการคั่ว


"การจัดตั้งกลุ่มกาแฟเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกันเองอีกด้วย โดยรายได้บางส่วนที่ได้จากการปลูกกาแฟในปีนั้น ๆ ของสมาชิกกลุ่มจะถูกนำเข้ากลุ่มกาแฟดังกล่าว ซึ่งเงินดังกล่าวจะถูกนำกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน"


ปัจจุบันในพื้นที่บ้านสามหมื่นมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหลายครัวเรือน ซึ่งหลายคนก็ยังขาดความรู้ในเรื่องการแปรรูปกาแฟและการคั่ว จึงอาศัยคนในพื้นที่ที่มีความรู้มากกว่าเป็นผู้ให้คำแนะนำโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่ต้องการพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ด.ต หญิง สิรินดา เกลอะมู คุณครูประจำโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะที่ 1 ซึ่งก็เป็นหนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านสามหมื่น “การทำกาแฟทั้งในรูปแบบกาแฟสารและกาแฟคั่วสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ครอบครัวได้อย่างดี รวมถึงการช่วยเหลือกันในชุมชนด้านการปลูกกาแฟ ซึ่งนอกจากเรื่องการให้ความช่วยเหลือทั่วไปในด้านความรู้เกี่ยวกับกาแฟแล้ว ยังมีการจัดตั้งกลุ่มกาแฟเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกันเองอีกด้วย โดยรายได้บางส่วนที่ได้จากการปลูกกาแฟในปีนั้น ๆ ของสมาชิกกลุ่มจะถูกนำเข้ากลุ่มกาแฟดังกล่าว ซึ่งเงินดังกล่าวจะถูกนำกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน ทั้งทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหมู่ หรือการส่งเสริมโรงเรียนทางด้านอาคารสถานที่รวมไปถึงส่งเสริมคุณภาพชีวิตในโรงเรียนของนักเรียน”


ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าที่ชุมชนหมู่บ้านสามหมื่นจะสามารถพัฒนาวิถีความเป็นอยู่ให้กลมเกลียวแน่นแฟ้นกันเหมือนในปัจจุบัน จากเดิมแต่ละชนเผ่าต่างก็มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่กลับต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกันทำให้ชาวบ้านต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ความแตกต่างกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนมีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมที่ถูกผสมรวมกันจนกลายเป็นความสวยงาม และยังคงไว้ซึ่งความดั้งเดิมซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของคนในชุมชนที่ร่วมกันรักษาประเพณีเก่าแก่ของแต่ละชนเผ่าไว้ ทำให้สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ชุมชน จนต่อยอดมาเป็นการร่วมมือของคนในชุมชนที่มากขึ้น ทั้งในด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ที่ทำให้เห็นว่าชุมชนบ้านสามหมื่นมีการปรองดองและเหนียวแน่นกันเพียงใด นอกจากความสวยงามของหมู่บ้านที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา พร้อมด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นแล้ว สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือความมีจิตใจโอบอ้อมอารีของชาวบ้านและการมีหัวใจเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนหลังจากที่ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน บ้านสามหมื่นจึงถือเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ยังคงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ไว้ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกันรวมถึงเป็นหมู่บ้านที่กำลังพัฒนาในเรื่องกาแฟให้สามารถมีตลาดรองรับที่กว้างขึ้น ด้วยความร่วมมือที่อยากจะพัฒนากาแฟของคนในหมู่บ้าน ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมกาแฟบ้านสามหมื่นจึงเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเหมือนอย่างทุกวันนี้



"ความแตกต่างกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนมีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมที่ถูกผสมรวมกันจนกลายเป็นความสวยงาม และยังคงไว้ซึ่งความดั้งเดิมซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของคนในชุมชนที่ร่วมกันรักษาประเพณีเก่าแก่ของแต่ละชนเผ่าไว้"

 

Coffee Traveler


เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ


และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ


- - -


สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler



Youtube : Coffee Traveler


642 views0 comments

Comments


bottom of page