top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

บ้านห้วยน้ำใส 🏔 สวนกาแฟสูงไม่มาก แต่สภาพพื้นที่มันได้

อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอำเภอติดอันดับ top 3 ที่มีขนาดใหญ่อีกอำเภอหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาประมาณ 60% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงประมาณ 90% หมู่บ้านห้วยน้ำใสแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่จะเข้าไปยังในตัวหมู่บ้าน เราสัมผัสได้ถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าได้จากวิวสองข้างทาง นอกจากนี้เรายังสังเกตุเห็นต้นกาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ให้ได้ชื้นใจว่าที่นี่มีกาแฟตามที่เขาว่าไว้จริงๆ


แต่ก่อนชื่อว่าบ้านน้ำออกฮู แล้วตอนที่คณะครูเขาจะมาตั้งโรงเรียน

ก็เดินไปดูห้วยแล้วเห็นว่าห้วยน้ำมันใส ถึงแม้ว่าฝนเพิ่งตกหนักไป

เขาเลยเอามาตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านห้วยน้ำใส



หมู่บ้านห้วยน้ำใสเป็นชุมชนพี่น้องปกาเกอะญอ ผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวงหล้า ภัทรปรีดากุล ท้าวความเกี่ยวกับหมู่บ้านในอดีตให้เราฟังว่า “แต่ก่อนชื่อว่าบ้านน้ำออกฮู แล้วตอนที่คณะครูเขาจะมาตั้งโรงเรียน ก็เดินไปดูห้วยแล้วเห็นว่าห้วยน้ำมันใส ถึงแม้ว่าฝนเพิ่งตกหนักไป เขาเลยเอามาตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านห้วยน้ำใส เราก็เอามาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านด้วยเลยตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อก่อนสมัยปู่ย่าตายายเขาถือผีกัน เลยย้ายไปอยู่ทางโน้น หลังจากนั้นคนเริ่มอยู่เยอะขึ้นทำให้พื้นที่ตรงนั้นมันไม่พอ เลยจำเป็นที่จะต้องขยายมาทางนี้ หมู่บ้านเราเลยมีสองหย่อมบ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านเหนือและบ้านใต้”


โครงการพัฒนาพื้นที่สูงโครงการหลวงสบเมย

ซึ่งเริ่มดำเนินการโดยกำหนดพื้นที่แบ่งเป็นโซน A, B, C, และ D



ปัจจุบันมีครัวเรือนทั้งสองหย่อมบ้านรวมกัน 125 ครัวเรือน และมีประชากรทั้งหมด 550 คน อาชีพหลักของชาวบ้านคือ การทำไร่ทำสวนและปลูกข้าว ซึ่งในอดีตชาวบ้านไม่มีรายได้ เนื่องจากทำการเกษตรเพื่อไว้กินภายในครอบครัวเท่านั้น เช่น ปลูกข้าว พริก เผือก และมัน เป็นต้น และเนื่องด้วยเมื่อก่อนชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน ทำให้สภาพพื้นที่ในอดีตเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากการแผ้วถางป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน และหน้าดินขาดแร่ธาตุอาหาร กว่าผืนป่าจะกลับมาสมบูรณ์ได้อย่างทุกวันนี้ ก็เกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านเองและจากหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้สบเมย (กรมป่าไม้) กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น โดยดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงโครงการหลวงสบเมย ซึ่งเริ่มดำเนินการโดยกำหนดพื้นที่แบ่งเป็นโซน A, B, C, และ D ในตอนนี้โครงการฯ เน้นให้งานในพื้นที่โซน A เพื่อที่จะขยายงานไปยังพื้นที่โซน B และ C ในอนาคต ดังนั้นโซน A จะเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้กับเกษตรกรที่สนใจ ซึ่งถูกตั้งให้เป็นต้นแบบระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของโซน B และ C กำลังดำเนินการในเรื่องของน้ำและพร้อมที่จะส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ส่วนโซน D จะเป็นการคืนพื้นที่ป่าจำนวน 966 ไร่ นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังได้เข้ามาดำเนินการในส่วนของการจัดตั้งป่าชุมชน เพื่อให้ประโยคที่ว่า “คนอยู่กับป่าได้” เกิดขึ้นที่บ้านห้วยน้ำใส พ่อหลวงเล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างยากจนและลำบากมาก ไม่ว่าจะเรื่องถนนหนทาง น้ำ ไฟ และเราขาดรายได้ เนื่องจากไม่มีตลาดมารองรับผลผลิต พืชผักส่วนมากเราก็จะปลูกไว้กินเอง จนเมื่อปี พ.ศ. 2558 ก็มีโครงการเข้ามาส่งเสริม โดยนำองค์ความรู้ของโครงการหลวงมาถ่ายทอดให้กับชุมชน ในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูก รวมถึงเรื่องของการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว โดยการหาตลาดมารองรับผลผลิตให้ด้วย พูดได้ว่าความเจริญเข้ามาในหมู่บ้านก็แถวๆ ช่วงนั้นเลย เราเพิ่งจะมีไฟใช้ และมีถนนคอนกรีตก็เมื่อสามปีที่แล้ว”


กาแฟที่นี่เริ่มจากฝรั่งที่เป็นผู้เผยแพร่ศาสนานำต้นกล้ากาแฟมาที่ท่าเรือแม่น้ำยวม



สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงที่เข้ามาส่งเสริมในหมู่บ้าน รวมถึงการเข้ามาจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ นอกจากนี้ยังจัดทำพื้นที่ที่ดินรายแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปแผ้วถางพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น โดยมีการแบ่งชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกิน พื้นที่ตรงไหนเป็นป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ และป่าต้นน้ำ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงในพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ของการทำไร่หมุนเวียนก็ลดลงกลายเป็นพื้นที่ป่าแล้ว และชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกเสาวรส อโวคาโด และกาแฟที่ทางหน่วยงานเข้ามาส่งเสริม แต่กาแฟได้เข้ามาทำความรู้จักกับชาวบ้านอยู่ก่อนแล้ว โดยประวัติความเป็นมาของกาแฟที่นี่เริ่มจากฝรั่งที่เป็นผู้เผยแพร่ศาสนานำต้นกล้ากาแฟมาที่ท่าเรือแม่น้ำยวม ซึ่งอยู่ที่หมู่ 8 หมู่บ้านห้วยไชชยงค์ ชาวบ้านที่สนใจหรือต้องการก็จะไปเอาต้นกล้ากาแฟที่ท่าเรือ รวมถึงชาวบ้านบ้านห้วยน้ำใสส่วนหนึ่งก็ลงไปเอาต้นกล้ากาแฟขึ้นมาปลูกด้วยเช่นกัน ดังนั้นกาแฟจึงเข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านเป็นระยะเวลากว่า 36 ปีแล้ว แต่เนื่องจากไม่มีตลาดรับซื้อ ชาวบ้านจึงไม่เห็นประโยชน์จากการปลูกกาแฟมากนัก เมื่อมีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ รวมถึงมีตลาดพร้อมที่จะรับซื้อแล้ว ชาวบ้านจึงหันมาสนใจในเรื่องของกาแฟมากขึ้น ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีต้นกาแฟที่หมู่บ้านอยู่ใต้ร่มเงาไม้ในป่า ดังนั้นในส่วนที่มีต้นกาแฟอยู่แล้วจึงถูกแบ่งพื้นที่ให้เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสวนจึงสามารถปลูกกาแฟร่วมกับป่าต่อไปได้ และถูกทำให้เป็นสวนกาแฟอินทรีย์ เพราะฉะนั้นสวนกาแฟที่หมู่บ้านห้วยน้ำใสส่วนใหญ่จึงอยู่ใต้ร่มเงาไม้ในป่า แต่ด้วยเรื่องความสูงของพื้นที่ที่สูงเพียง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล กาแฟบ้านห้วยน้ำใสจึงยังคงอยู่ในช่วงค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ยังมีบางสวนที่มีความสูงกว่า 1,000 เมตร อยู่ด้วยเช่นกัน



ยกตัวอย่างสวนกาแฟอินทรีย์ของพี่อุดมหรือ อุดม สถิตอุสาห์ ที่เป็นเจ้าของสวนกาแฟที่มีอายุถึง 20 ปี โดยเกิดจากความสนใจในเรื่องกาแฟตั้งแต่ตอนที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริม จึงซื้อสวนนี้ต่อจากเพื่อน และเข้ามาเป็นเจ้าของสวนได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยในสวนนอกจากกาแฟแล้วก็จะมีบุกและใบพลู ที่ปลูกไว้เพื่อเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่ง และพี่อุดมเป็นคนดูแลจัดการสวนจำนวน 2 ไร่ นี้เองทั้งหมด พี่อุดมเล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนกาแฟมันก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครเข้ามาหาตลาดให้ เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเขาก็เข้ามาสนับสนุนให้ปลูกกาแฟแล้วก็ช่วยหาตลาดมาให้ ผมก็เลยเริ่มสนใจกาแฟ แล้วเห็นว่ามันสามารถสร้างรายได้ได้จริง พอมาปลูกกาแฟรายได้ผมก็เพิ่มขึ้น พอเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว ผมจะเป็นคอยเข้ามาตัดแต่งกิ่งบ้าง มาใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบ้าง จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเลย ส่วนน้ำก็รอน้ำฝน” ซึ่งสวนของพี่อุดมจะเก็บเกี่ยวเสร็จภายในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นพี่อุดมก็จะนำไปแปรรูปแบบเปียก (Washed Process) และส่งขายเป็นกาแฟกะลา นอกจากนี้เรายังได้พูดคุยกับพี่อุดมเพิ่มเติมถึงเรื่องของการพัฒนากาแฟให้เป็นกาแฟสาร รวมไปถึงขั้นตอนของการคั่ว เพราะพี่อุดมบอกกับเราว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะขายเป็นเชอร์รีและกาแฟกะลา ไม่มีใครไปถึงขั้นตอนของการคั่วเลยแม้แต่คนเดียว


“จริงๆ มีชาวบ้านหลายคนสนใจมากนะ ตอนที่เขาจัดอบรมหรือมาให้ความรู้เรื่องการคั่ว ชาวบ้านที่สนใจก็ไปกันหลายคนอยู่ ประมาณ 30 คนได้ แต่ด้วยความที่เราไม่มีอุปกรณ์หรือพวกเครื่องไม้เครื่องมือ เราเลยไม่เห็นมันอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ความรู้และความสนใจเรามีอยู่แล้ว แต่เราขาดเครื่องมือที่จะทำให้มันออกมาเป็นรูปธรรม” คำพูดของพี่อุดทำให้เราหันกลับมาคิดว่า แท้จริงแล้วเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟบ้านห้วยน้ำใสยังมีคนที่พร้อมจะพัฒนากาแฟเพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้หยุดอยู่ที่การขายเชอร์รีหรือกาแฟกะลาเท่านั้น และไม่ได้มีเพียงผู้ที่ปลูกกาแฟเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพียงอย่างเดียว



ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เราได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สัญญาหรือ สัญญา สบประภาพร หนึ่งในเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟที่ได้ผลผลิตค่อนข้างมากอีกคนหนึ่งของบ้านห้วยน้ำใส แต่จริงๆ แล้วอาชีพหลักของพี่สัญญาคือการปลูกข้าว แกปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริม แต่อยากจะเพิ่มมูลค่าของกาแฟบ้านห้วยน้ำใสเช่นกัน พี่สัญญามีพื้นที่ปลูกกาแฟอินทรีย์จำนวน 5 ไร่ ในการจัดการดูแลสวนพี่สัญญาจะคอยตัดแต่งกิ่งต้นกาแฟอยู่สม่ำเสมอ และเป็นสวนปราศจากสารเคมี ต้นกาแฟสุขภาพดีหลายร้อยต้นปลูกอยู่ใต้ร่มเงาไม้ในป่าใหญ่อย่างสบายใจ ซึ่งมีอายุประมาณ 6 – 7 ปีแล้ว ซึ่งผลผลิตก็ขึ้นอยู่กับแต่ละปี ในปีนี้พี่สัญญาได้กาแฟกะลา 300 กิโลกรัม โดยในบางปีพี่สัญญาจะช่วยรับซื้อกาแฟเชอร์รีจากชาวบ้านบ้าง เพื่อนำมาแปรรูปเอง และส่งขายเป็นกาแฟกะลาเท่านั้น นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย


เราอยากพัฒนาให้ได้ราคาสูงขึ้น หรือเพิ่มมูลค่าให้มันมากกว่านี้

อยากให้มีตัวเลือกหรือตลาดที่จะรองรับเรามากกว่านี้


เราอยากพัฒนาให้ได้ราคาสูงขึ้น หรือเพิ่มมูลค่าให้มันมากกว่านี้ อยากให้มีตัวเลือกหรือตลาดที่จะรองรับเรามากกว่านี้ ผมเคยคิดว่าอยากคั่วเอง แต่มันหาตลาดยาก นอกจากผมแล้วชาวบ้านที่อยากคั่วเองเขาก็มีความสนใจในเรื่องนี้อยู่ แต่เราไม่ได้อยู่ในจุดที่จะหาเครื่องไม้เครื่องมือมาทำกันเองได้มากขนาดนั้น ทางหน่วยงานเขาก็เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ในเรื่องนี้ แต่ว่าเรื่องอุปกรณ์ยังมาไม่ถึง ถ้าเรามีอุปกรณ์พร้อม ผมว่ากาแฟของบ้านห้วยน้ำใสก็ไม่เป็นสองรองใครนะ เพราะเราเป็นกาแฟอินทรีย์ด้วย ปลูกร่วมกับป่า มันอยู่กับธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไร” พี่สัญญากล่าว



นอกจากพี่อุดมและพี่สัญญาแล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่อย่างปั๊บหรือ วรชิต ศรีพนาลัย ที่เคยทำงานอยู่ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และหันเหกลับมาทำสวนแบบเศรษฐกิจพอเพียงและปลูกกาแฟในสวนที่ตกทอดมาจากแม่ในพื้นที่ 8 ไร่ กับอีก 27 ตารางวา พร้อมกับแรงใจที่อยากจะพัฒนากาแฟบ้านห้วยน้ำใสให้มีชื่อเสียงไม่แพ้กาแฟตัวอื่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยความเป็นมาที่กลับมาทำสวนของปั๊บ “มันมีหลายปัจจัยที่ต้องทำให้มาอยู่บ้าน ปัจจัยหลักเลยคือ แม่เริ่มแก่แล้ว สุขภาพร่างกายท่านก็ไม่ค่อยไหว ผมเลยตัดสินใจกลับมาดูแลแม่ด้วย แล้วก็สวนด้วย เพราะผมอยู่ในเมืองมานานตั้งแต่สมัยเรียน จะว่ามันอิ่มตัวและหน่ายเต็มทีก็ไม่มากไปครับ ส่วนตัวรู้สึกชอบทำสวนอยู่แล้วที่เป็นสวนแบบเศรษฐกิจพอเพียง เลยตัดสินใจกลับมาบ้านได้ไม่ยาก พอกลับมาก็เห็นว่าในสวนเรามันมีน้ำ มีไม้ผล มีเกือบครบทุกอย่าง เราแค่กลับมาทำมาดูแล ในอนาคตผมแพลนไว้ว่าจะทำให้สวนนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เพราะสวนของผมอยู่ในจุดที่วิวดี ตอนเช้าเห็นทะเลหมอกด้วย เลยว่าจะทำเป็นโฮมสเตย์ แล้วก็ร้านกาแฟครับ ส่วนต้นกาแฟแม่ผมปลูกมาก่อนอยู่แล้วประมาณ 100 ต้นได้ครับ”


ตอนนี้ห้วยน้ำใสกำลังทำเรื่องขออนุมัติเป็นกาแฟอินทรีย์

ก่อนหน้านี้ได้ส่งรายชื่อเกษตรกรที่ปลูกกาแฟไป 35 ราย ดำเนินงานไป 2 ปีกว่าแล้ว



นอกจากปั๊บจะทำสวนแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ปลูกพืชผักหลายอย่างผสมผสานกัน มีบ่อปลาดุก และเล้าไก่เล้าหมู พร้อมต้นกาแฟจำนวน 100 ต้นแล้ว ปั๊บยังบอกกับเราเกี่ยวกับเรื่องการจะปลูกกาแฟเพิ่มอีกด้วย โดยได้ไปวัดในพื้นที่ป่าชุมชนมาแล้ว ซึ่งในส่วนของป่าชุมชนก่อนหน้านี้ก็มีต้นกาแฟอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่สูง 900 - 1,200 เมตร ชาวบ้านเข้าไปปลูกกันเมื่อประมาณ 4 - 5 ปีที่แล้ว ตอนแรกเป็นไร่หมุนเวียนแต่ตอนนี้ไม่ได้ทำไร่หมุนเวียนแล้ว กลายเป็นป่าชุมชน ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเข้ามาส่งเสริม ให้ชาวบ้านปลูกกาแฟได้ จึงมีการวัดแบ่งพื้นที่กัน ปั๊บเองก็มีแพลนที่จะตั้งใจทำตรงนี้ให้ออกมาดีที่สุด ปั๊บแอบบอกกับเราว่า “ตอนนี้ห้วยน้ำใสกำลังทำเรื่องขออนุมัติเป็นกาแฟอินทรีย์ ก่อนหน้านี้ได้ส่งรายชื่อเกษตรกรที่ปลูกกาแฟไป 35 ราย ดำเนินงานไป 2 ปีกว่าแล้วครับ น่าจะมีโอกาสผ่านอยู่เพราะเรามีข้อมูลแปลงของชาวบ้านทุกราย คนนี้ชื่ออะไร มีกี่ไร่ และกี่ตารางวา ถ้าเรื่องกาแฟอินทรีย์ที่เสนอไปผ่าน ในความคิดผมอยากสร้างแบรนด์กาแฟของห้วยน้ำใสที่เป็นแบรนด์ของชุมชนเอง เพราะผมคิดว่าถ้าเป็นกาแฟอินทรีย์ ราคาก็จะเพิ่มขึ้นมา มันดีกว่าปัจจุบันที่เราขายแค่กาแฟเชอร์รีและกาแฟกะลาแน่นอน แล้วถ้าให้หน่วยงานเข้ามาช่วยส่งเสริมพร้อมกับเข้ามาโปรโมทก็จะช่วยกระจายข่าวได้ในวงกว้าง แพลนที่ผมจะเปิดร้านกาแฟ ผมก็จะใช้กาแฟในหมู่บ้านเอามาขาย ชาวบ้านก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยครับ”


ถึงแม้ว่าในตอนนี้กาแฟบ้านห้วยน้ำใสจะยังคงอยู่ในขั้นตอนของการค่อยเป็นค่อยไปทีละก้าว แต่ในวันข้างหน้ากาแฟบ้านห้วยน้ำใสจะออกมาให้เราได้ลิ้มลองอย่างแน่นอน พร้อมกับคุณภาพที่การันตีด้วยการรับรองของการเป็นกาแฟอินทรีย์ที่กำลังจะผ่านขั้นตอนในเร็ววันนี้ ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการให้สวนกาแฟของบ้านห้วยน้ำใสเปลี่ยนเป็นระบบอินทรีย์ภายใน 1 ปีครึ่ง โดยมีกรมวิชาการเกษตร เข้าไปตรวจและออกหนังสือรับรองว่ากำลังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนไปเป็นสวนเกษตรอินทรีย์อย่างไรก็ตามตราบใดที่บ้านห้วยน้ำใสยังมีเกษตรกรที่คิดเหมือนพี่อุดม พี่สัญญา และปั๊บอยู่ การพัฒนาในเรื่องของการแปรรูปและขั้นตอนของการคั่วก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม และด้วยการช่วยเหลือจากภาครัฐด้วยแล้ว บ้านห้วยน้ำใสจะส่งขายกาแฟสารและคั่วกาแฟขายเองก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากอะไร นอกจากนี้การที่บ้านห้วยน้ำใสปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ พร้อมกับดูแลรักษาป่าไปพร้อมกัน อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนลง ทำให้ตอนนี้บ้านห้วยน้ำใสลดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน กลับคืนเป็นผืนป่าได้จำนวน 966 ไร่ รวมถึงสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าโดยรอบชุมชนได้ 5,530 ไร่ สิ่งนี้จึงเป็นตัวที่จะช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า กาแฟอินทรีย์ของบ้านห้วยน้ำใสสามารถทำให้ คน กาแฟ และป่า อยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง



 

Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน

ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler

336 views0 comments

Comments


bottom of page