" บ้านเมืองก๋าย หนึ่งในหมู่บ้านที่ทางโครงการหลวงม่อนเงาะเข้ามาส่งเสริมอาชีพและดูแลความเป็นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลในเรื่องของการท่องเที่ยวมาจากโครงการหลวงที่พยายามพัฒนาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้ดอยม่อนเงาะด้วย "
บ้านเมืองก๋าย ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในหมู่บ้านของดอยม่อนเงาะที่เราไม่คุ้นชื่อกันเท่าไรนัก แต่หากพูดถึงดอยม่อนเงาะ เหล่านักท่องเที่ยวคงรู้จักกันเป็นอย่างดีกับจุดชมวิวดอยม่อนเงาะ ที่มีความสูง 1,450 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จนสามารถมองเห็นวิวที่สวยงามได้แบบพาโนรามา ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากของโครงการหลวงม่อนเงาะ ที่พยายามผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จนปัจจุบันดอยม่อนเงาะกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศได้ในที่สุด
ต้องขอท้าวความก่อนว่าดอยม่อนเงาะมีลักษณะเป็นหินผาที่ตั้งอยู่ข้างกันสามลูก ซึ่งถูกเรียกว่าผาลูก ผาแม่ และผาพ่อ โดยคำว่าม่อนเงาะเพี้ยนมาจากคำว่า“โม่งโง๊ะ” ที่แปลว่า แม่ ในภาษาม้ง ต่อมาในปีพ.ศ. 2528 ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะขึ้น โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งได้รับคำสั่งให้สำรวจสภาพพื้นที่หมู่บ้านม่อนเงาะ ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จึงพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ในพื้นที่ และตัดไม้ทำลายป่าเพื่อประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอยอย่างการปลูกฝิ่นและพืชไร่หมุนเวียนทุกปี อีกทั้งยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างยากจนอีกด้วย จากนั้นทางโครงการหลวง จึงเข้าไปส่งเสริมการเพาะปลูกเมี่ยงและกาแฟ เนื่องจากพื้นที่ที่โครงการหลวงรับผิดชอบมีระดับความสูงโดยประมาณ 800 - 1,200 เมตร จึงส่งเสริมให้ชาวบ้านที่อยู่บนพื้นที่ปลูกกาแฟแซมสวนชาเมี่ยงมากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาวอื่น ๆ เช่น อาโวคาโด พลับ และฟักทองญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีเห็ดและกล้วยไม้ซิมบิเดี้ยมอีกด้วย
" การท่องเที่ยวของดอยม่อนเงาะขยายจนเข้ามาในบ้านเมืองก๋าย ซึ่งในปัจจุบันมีที่พักเกิดขึ้นมากมายในหมู่บ้าน "
เช่นเดียวกันกับหมู่บ้านเมืองก๋าย หนึ่งในหมู่บ้านที่ทางโครงการหลวงม่อนเงาะเข้ามาส่งเสริมอาชีพและดูแลความเป็นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลในเรื่องของการท่องเที่ยวมาจากโครงการหลวงที่พยายามพัฒนาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้ดอยม่อนเงาะด้วย เรามีโอกาสได้พูดคุยกับรุ่นใหญ่ในพื้นที่อย่างพ่อกำนันอาทิตย์ (อาทิตย์ ก้อนคำ) ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและการท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นหัวใจของดอยม่อนเงาะและหมู่บ้านเมืองก๋ายเช่นกัน
“ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังเรื่องชื่อหมู่บ้านมาจากชื่อน้ำห้วยแม่ก๋าย จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเมืองก๋าย โดยส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม ประกอบอาชีพทำสวนทำไร่และรับจ้างทั่วไป ซึ่งชาวบ้านมีที่ดินทำกินทุกครัวเรือนโดยเป็นการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นร่วมร้อยปี หลังจากโครงการหลวงม่อนเงาะเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกเมี่ยง ชาวบ้านก็เริ่มทำสวนเมี่ยงและเก็บเมี่ยงขายได้ราคาค่อนข้างดี ซึ่งทางโครงการหลวงได้ส่งเสริมเรื่องการปลูกผลไม้ด้วย จึงมีชาวบ้านบางส่วนที่ได้ปลูกลิ้นจี่ เงาะ หรืออาโวคาโด นอกจากการเก็บเมี่ยงขายเพียงอย่างเดียว”
ปัจจุบันบ้านเมืองก๋ายเหลือเพียง 69 หลังคาเรือนจาก 92 หลังคาเรือน เนื่องจากชาวบ้านต่างพากันโยกย้ายออกไปหางานทำนอกหมู่บ้านหรือในเมืองตามบริบทของคนหาชาวกินค่ำ ซึ่งพ่อกำนันเล่าให้ฟังว่า สมัยที่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมการปลูกเมี่ยงเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านต่างพากันทำสวนเมี่ยงทุกหลังคาเรือน เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางรับซื้อในราคาที่คุ้มค่าแก่การลงแรงแต่ในส่วนของกาแฟนั้น ชาวบ้านไม่ได้สนใจมากนัก ซึ่งเกิดจากค่าแรงค่อนข้างสูงประกอบกับราคาการรับซื้อกาแฟยังต่ำอยู่มาก ทำให้ชาวบ้านมองว่าการทำสวนกาแฟไม่คุ้มต่อการประกอบอาชีพสำหรับเลี้ยงดูทั้งครอบครัว
“เราก็เคยทำสวนเมี่ยงและปลูกกาแฟพันกว่าต้น แต่ด้วยค่าแรงที่ต้องจ่ายมันมากกว่ารายรับที่เราได้ตอนขายกาแฟ หลังจากนั้นคนก็นิยมการกินเมี่ยงน้อยลง ทำให้ราคาเมี่ยงตกต่ำมาโดยตลอด เราจึงตัดสินใจโค่นทั้งต้นเมี่ยงและต้นกาแฟออกในปีพ.ศ. 2557/58 แล้วหันมาปลูกส้มสายน้ำผึ้งฝางตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560/61 มาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่หันมาทำสวนผลไม้กันมากขึ้น ในช่วงนั้นการท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามาในหมู่บ้าน เนื่องจากนักท่องเที่ยวขึ้นมาชมวิวและจับจองห้องพักบนดอยม่อนเงาะที่โครงการหลวงพยายามผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวกันมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวของดอยม่อนเงาะขยายจนเข้ามาในบ้านเมืองก๋าย ซึ่งในปัจจุบันมีที่พักเกิดขึ้นมากมายในหมู่บ้าน แต่เป็นของคนข้างนอกเข้ามาซื้อหรือเช่าที่ชาวบ้านทำเป็นบ้านพักต้อนรับท่องเที่ยวช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงประมาณต้นเดือนมีนาคม”
หลังจากการท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้านพร้อมด้วยกลุ่มนักลงทุนที่ต่างพากันเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อทำเป็นโฮมสเตย์หรือบ้านพักรอรับนักท่องเที่ยว ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านบางส่วนปล่อยขายที่ดินแล้วพากันออกไปอยู่ในเมือง แต่อีกส่วนหนึ่งยังคงทำสวนผลไม้และได้ความช่วยเหลือจากทางบ้านพักในการส่งลูกค้าให้กับทางสวน สำหรับโปรแกรมการเยี่ยมชมสวนผลไม้ จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง
" แม้ว่าคนในหมู่บ้านเมืองก๋ายส่วนใหญ่จะหันไปทำสวนผลไม้หรือรับจ้างทั่วไป แต่ยังคงมีคนจำนวนหนึ่งที่ปลูกกาแฟด้วยความหวังว่าสามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนได้ในอนาคต "
“สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวหรือการสร้างบ้านพักนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีทุนมากมายที่จะสามารถสร้างเป็นของตัวเอง เราจึงมองว่าการท่องเที่ยวเป็นโอกาสที่ดีอีกโอกาสหนึ่งของบ้านเมืองก๋าย เนื่องจากเรามีสภาพแวดล้อมที่สวยงามและบรรยากาศไม่เป็นสองรองใครเป็นทุนเดิม เมื่อมีคนเข้ามาลงทุนพร้อมอยู่ในกฎเกณฑ์คือ สามารถสร้างบ้านพักได้ในที่ดินทำกินเท่านั้น และไม่สามารถตัดต้นไม้นอกพื้นที่ตัวเองได้ ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าก็ยังคงอยู่ อีกทั้งยังเกิดการเกื้อกูลกันระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มคนที่เข้ามาด้วย ซึ่งชาวบ้านเองก็มีอาชีพเข้าไปช่วยดูแลบ้านพัก ส่วนคนที่มีสวนผลไม้หรือสวนส้มเหมือนเราก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากนักท่องเที่ยว”
บอกได้เลยว่าพ่อกำนันเป็นอีกหนึ่งคนในหมู่บ้านที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จากสวนเมี่ยงที่มีต้นกาแฟแซมอยู่บ้างอัดแน่นกันเต็มพื้นที่ กลับกลายเป็นสวนผลไม้นานาชนิดพร้อมด้วยบ้านพักกว่าร้อยหลังทั้งในและรอบ ๆ หมู่บ้าน ที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลายปี แม้ว่าคนในหมู่บ้านเมืองก๋ายส่วนใหญ่จะหันไปทำสวนผลไม้หรือรับจ้างทั่วไป แต่ยังคงมีคนจำนวนหนึ่งที่ปลูกกาแฟด้วยความหวังว่าสามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนได้ในอนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคุณเหมย (นิภาพร แซ่ฮวง) ที่ได้รับที่ดินทำกินเป็นมรดกตกทอดมาจากคุณแม่ และตัดสินใจนำกล้ากาแฟจากโครงการหลวงม่อนเงาะมาปลูกจำนวน 2,000 ต้น ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเธอเองในพื้นที่ 18 ไร่
“ก่อนหน้านี้แม่ปลูกกาแฟอยู่แล้วตั้งแต่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมสมัยแรกแม่ก็ปลูกพร้อมกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ซึ่งที่ดินผืนนี้เราตั้งใจว่าจะใช้ปลูกข้าวโพดแต่ด้วยพื้นที่ตรงนี้มีความชื้นและอากาศค่อนข้างเย็นกว่าบริเวณอื่นจึงตัดสินใจนำกาแฟมาปลูกประมาณ 2,000 ต้น จากโครงการหลวง เมื่อ ปี พ.ศ. 2560 ตอนปลูกแรก ๆ มีแต่คนไม่เห็นด้วยเพราะราคาขายค่อนข้างถูก แต่ค่าแรงจ้างคนช่วงเก็บเกี่ยวสูงมาก เราก็ทำมาด้วยกำลังของเราเองกับครอบครัวและเป็นสมาชิกกับโครงการหลวง เมื่อเจอปัญหา ทางโครงการหลวงก็จะเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำอยู่ตลอด จนเข้าปีที่ 3 ก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จึงตัดสินใจทำเป็นกะลาส่งให้กับโครงการหลวงได้ประมาณ 300 กิโลกรัม พอเราส่งเป็นกะลาราคามันก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าส่งเป็นเชอร์รี”
เรามีโอกาสได้เข้าไปเห็นสวนกาแฟของคุณเหมย ซึ่งบอกได้เลยว่า ต้นกาแฟถูกตัดแต่งกิ่งและดูแลอย่างดี อีกทั้งยังเป็นสวนที่ไม่มีหญ้าขึ้นรกอีกด้วย เนื่องจากคุณเหมยและครอบครัวคอยเข้ามาดูแลสวนอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ด้วยพื้นที่ของสวนโดยรวมที่ปกคลุมไปด้วยไม้ป่านานาชนิด ประกอบกับต้นอาโวคาโดและส้มโอที่คุณเหมยปลูกแซมในสวน จึงกลายเป็นร่มเงาอย่างดีให้แก่ต้นกาแฟนับพัน
“กาแฟเป็นพืชที่ปลูกง่ายที่สุดแต่ต้องการการดูแลระดับหนึ่ง ในช่วงปีแรกเราซื้อปุ๋ยขี้วัวมาใส่เพื่อให้ต้นกาแฟได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ ในปีถัดไปต้องยอมรับว่าเราใส่ปุ๋ยเคมีเล็กน้อยเพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคอยดูแลตัดแต่งกิ่งและกำจัดแมลงศัตรูพืช ในเรื่องของน้ำเราได้ส่งเรื่องกับโครงการหลวงโดยการซื้อท่อมาต่อเพื่อดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาที่สวน ทำให้เรามีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดจนฤดูกาลเก็บเกี่ยว”
คุณเหมยทำกาแฟปีนี้เข้าปีที่หกและสามารถเก็บผลผลิตมาได้ 3 ปีแล้ว โดยพื้นที่ของคุณเหมยอยู่ในระดับความสูงปานกลาง จึงเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคุณเหมยบอกกับเราว่า ยังคงทำกาแฟต่อไป เนื่องจากมูลค่าของกาแฟอยู่ที่กรรมวิธีการทำมากกว่า ถ้าขยันทำเป็นกะลาส่งขายก็ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มกับค่าแรง แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะไม่ได้มากมายเมื่อหักลบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แต่ถือว่าอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน ดังนั้นคุณเหมยจึงเปรียบเสมือนตัวแทนหมู่บ้านในส่วนของกาแฟที่ยังคงตั้งใจเดินหน้าในเรื่องของกาแฟต่อไป อีกทั้งสวนกาแฟยังสามารถเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย หากคุณเหมยทำสวนกาแฟได้ประสบความสำเร็จแล้ว การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยการพาเที่ยวชมสวนกาแฟและศึกษาวิธีการแปรรูปก็ถือเป็นแผนต่อไปในอนาคตที่น่าสนใจเลยทีเดียว
เช่นเดียวกันกับลุงเดช (เดช รังษี) เจ้าของไร่ชาลุงเดช ที่มีความมุ่งมั่นเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่าฟันอุปสรรคการทำสวนชาโดยไม่มีใครเห็นด้วย จนกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าลุงเดชถือเป็นรุ่นใหญ่อีกคนหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของดอยม่อนเงาะและบ้านเมืองก๋าย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ดอยม่อนเงาะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว และทำให้บ้านเมืองก๋ายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยลุงเดชเริ่มปลูกชาตั้งปี พ.ศ. 2532 จากการเข้ามาส่งเสริมของโครงการหลวงม่อนเงาะใน ปี พ.ศ. 2531 นับตัวเลขคร่าว ๆ ก็กว่า 30 ปี แล้วของการมุ่งมั่นทำชาจนกลายเป็นสวนชาหนึ่งเดียวของดอยม่อนเงาะเลยก็ว่าได้
“ลุงอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2479 และเป็นรุ่นที่ 3 ของพื้นที่ทำกินตรงนี้ หลังจากโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมการปลูกชาเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว รุ่นเราถือเป็นรุ่นแรกที่ได้รับกล้าชามาปลูกซึ่งมีด้วยกัน 19 ครัวเรือนที่เข้าร่วม โดยทางโครงการหลวงจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด ในสมัยนั้นราคาชาค่อนข้างดี อย่างใบชาอู่หลงสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท และชาเขียวเบอร์ 12 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่ด้วยความเคยชินในการทำสวนเมี่ยงของชาวบ้านที่การดูแลสวนนั้นมีเพียงการตัดหญ้า 1 - 2 ครั้งต่อปี ซึ่งต่างจากการดูแลสวนชาโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นงานค่อนข้างละเอียดและจำเป็นต้องตัดหญ้า
อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ประกอบกับใช้เวลาประมาณสองปีกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตทำให้คนอื่น ๆ เขาเลิกทำกันไปหมดแล้วเหลือลุงคนเดียว”
เราถามเหตุผลกับลุงเดชอย่างตรงไปตรงมา ถึงเรื่องการเดินหน้าทำสวนชาต่อเพียงคนเดียวในหมู่บ้าน อีกทั้งราคาของชาที่มีทั้งขึ้นและลงซึ่งเป็นปกติของสินค้าเกษตร แต่ทำไมลุงเดชยังคงยืนหยัดในการทำสวนชามาจนถึงปัจจุบันจนกลายเป็นมือชาอันดับหนึ่งของอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งลุงเดช ก็ตอบเราตามประสาชาวบ้านอย่างเข้าใจง่ายว่า หากกลับไปทำสวนเมี่ยงอีก
ก็ต้องนับหนึ่งใหม่เช่นกัน เนื่องจากก่อนปลูกชาลุงเดชได้ถอนรากถอนโคนต้นเมี่ยงออกไปจนไม่เหลือตอเดิมกันเลยทีเดียว กว่าสิบปีหลังต่อสู้กับอุปสรรคมากมายจากการทำสวนชาด้วยตัวคนเดียว ทั้งราคาตกต่ำ ไม่ได้ตามความตั้งใจ หรือชาถูกตีกลับเนื่องจากไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ และอีกสารพัดปัญหาที่ลุงเดชจำเป็นต้องแก้ไขไปทีละข้อ พร้อมมีความมุ่งมั่นและ
ความพยายามเป็นแก่นของเส้นทางที่เลือกจนกระทั่งลุงเดชมีความชำนาญในเรื่องของชามากขึ้น ทำให้ทางโครงการหลวงพาคนเข้ามาศึกษาดูงานที่ไร่ชาของลุงเดช ประกอบกับภาพบรรยากาศวิวหลักล้านที่มีไร่ชาถูกปลูกลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได ทำให้ไร่ชาของลุงเดชเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและมีคนเข้ามาขอนอนพักค้างคืนจากรายคนกลายเป็นกลุ่มคณะ ด้วยบรรยากาศและความใจดีเป็นกันเองของลุงเดช ทำให้สถานที่แห่งนี้ถูกบอกต่อกันแบบปากต่อปาก จากสถานที่ศึกษาดูงานเพื่อการเกษตร จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ไปโดยปริยาย
“ลุงมองว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราทำด้วยใจมันก็สำเร็จได้ทุกอย่าง จริง ๆ ไร่ของลุงเริ่มเข้าที่เข้าทางและเป็นที่รู้จักเมื่อประมาณ 5 - 6 ปีที่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้อยากทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งแต่แรก เพราะใจจริงแค่อยากทำสวนชากับส่งชาขายเป็นอาชีพ แต่โครงการหลวงเขาพาคนมาดูงาน และให้เราบรรยายเกี่ยวกับการปลูกชา หลังจากนั้นคนที่มาดูงานเขาอยากกลับมา
อีกเพราะชอบบรรยากาศจึงขอเข้ามาพักบ้าง พร้อมเตรียมของง่าย ๆ มาทำกินกันบ้าง เมื่อก่อนจึงมีแต่คนเข้ามากางเต็นท์ จากนั้นมีคนแนะนำให้ทำเป็นบ้านพักจึงทำไว้ 2 หลังและห้องอีก 4 ห้องสำหรับคนที่มาจากไกล ๆ ได้มาพักกันคนที่มาเขาชอบก็เลยบอกกันไปแบบปากต่อปากจนช่วยตั้งชื่อให้ว่า ไร่ชาลุงเดช หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวก็แวะเข้ามากันมากขึ้น จนในปีพ.ศ. 2561/62 ช่วงโควิดพอดีจึงทำเพิ่มเป็น 7 หลังมาจนถึงวันนี้ และไม่ตั้งใจว่าจะขยายเพิ่มเพราะทำเท่าที่เราทำไหวและมีความสุขดีกว่า”
ปัจจุบันไร่ชาลุงเดชจึงเป็นทั้งพื้นที่ศึกษาดูงานและจุดเช็คอินต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมบรรยากาศหมู่บ้านเมืองก๋าย และสัมผัสกลิ่นอายของดอยม่อนเงาะที่เต็มไปด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ เรียกได้ว่าลุงเดชเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกไร่ชาของบ้านเมืองก๋ายที่พ่วงตำแหน่งกองหน้าด้านการท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้
ปัจจุบันดอยม่อนเงาะและบ้านเมืองก๋ายกลายเป็นสถานที่ของการเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจช่วงสิ้นปี พร้อมด้วยบ้านพักที่เกิดขึ้นมากมายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกพักกันตามความชอบ ซึ่งมีให้เลือกกันแบบทุกสไตล์เลยทีเดียว แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะเริ่มเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว แต่เรายังคงสัมผัสได้จากวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านหมู่บ้านเมืองก๋ายได้อย่างชัดเจน เช่น ยังมีการทำไร่ชาเมี่ยงและเก็บขายอยู่บ้าง การออกไปรับจ้างเพื่อดูแลคนในครอบครัว รวมถึงการทำสวนผลไม้เพื่อส่งขายให้พ่อค้าคนกลางหรือทางโครงการหลวง และเป็นสถานที่สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วง High season รวมถึงยังเห็นกลุ่มคนที่ยังคงมุ่งหน้าทำสวนกาแฟอย่างพี่เหมย ทำให้การเดินทางเข้าไปสัมผัสบ้านเมืองก๋ายเต็มอิ่มและอบอวลไปด้วยวิถีชีวิตที่ล้อไปกับการพัฒนาในเรื่องของการท่องเที่ยวได้อย่างดีเลยทีเดียว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวยังคงเป็นโอกาสที่สามารถช่วยสร้างอาชีพให้กับคนในหมู่บ้านได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน นอกจากการประกอบอาชีพทั่วไปในแบบวิถีเดิม
" ปัจจุบันไร่ชาลุงเดชจึงเป็นทั้งพื้นที่ศึกษาดูงานและจุดเช็คอินต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมบรรยากาศหมู่บ้านเมืองก๋าย และสัมผัสกลิ่นอายของดอยม่อนเงาะที่เต็มไปด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ "
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comments