แวดวงเพลงเพื่อชีวิตคงไม่มีใครไม่รู้จัก สุรชัย จันทิมาธร หรือ “น้าหงา คาราวาน” ซึ่งเป็นชื่อที่เราเรียกกันอย่างติดปาก ผู้ชายคนนี้ถือได้ว่าเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนเพลงเพื่อชีวิตเลยก็ว่าได้ การที่น้าหงาได้รับการประกาศเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2553 ก็ดูเหมือนว่าจะเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งแล้ว เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าก่อนที่น้าหงาจะได้ทำความรู้จักกับดนตรีหรือเพลงนั้น ในตอนที่เรียนศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ เป็นคนที่ชอบเขียนรูปและชอบเขียนหนังสือ จึงส่งไปตามนิตยสารจนได้รู้จักกับคนในแวดวงนักเขียนอย่างคุณสุวรรณี สุคนธา หนึ่งในตำนานนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทย จนช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในขณะที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งตอนนั้นขาดเสียงเพลง และเพื่อนชักชวนให้มาร้องเพลง จึงลองหยิบกีตาร์มาเล่นดู และแต่งเพลง พอได้ลองก็รู้สึกว่ามันไม่ยาก ด้วยความที่เขียนหนังสือมาก่อน จึงทำให้แต่งเพลงได้ พูดได้ว่า น้าหงา คาราวาน เริ่มรู้จักกับการแต่งเพลงและป่าตั้งแต่ตอนนั้น
ความผูกพันกับป่า
“ผมเกิดในเมืองสุรินทร์ ที่ผมโตเป็นเมืองเก่า ก็ยังมีโอกาสได้เห็น “ดง” คือจะเป็นป่าชุมชนที่มีต้นไม้สูงใหญ่ มีห้วย มีลำธาร ตอนนั้นยังไม่มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวน พี่ชายผมชอบพาเข้าไปเที่ยว ซึ่งพี่เขาจะไปเอาพวกกล้วยไม้มาปลูกมาเลี้ยง ส่วนเราก็เข้าไปดูป่า หาพวกพืชที่กินได้อะไรทำนองนั้น อันนี้ความทรงจำเกี่ยวกับป่าในวัยเด็กนะ เรียกได้ว่าเราเองเป็นคนเข้าป่าตั้งแต่เด็กๆ เลย หลังจากที่เราเข้ามาเรียนในเมือง พอกลับบ้านมา ป่าที่เคยไปตอนเด็กๆ มันก็เหลือน้อยแล้ว เพราะชาวบ้านเขาถางเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เมื่อก่อนเป็นป่าต้นน้ำ เป็นน้ำห้วยสำคัญในอำเภอที่ผมอยู่ ปัจจุบันห้วยไม่ค่อยมีน้ำแล้ว เพราะป่ามันหมดไป ในตอนนั้นเลยยังไม่มีความผูกพันอะไรกับป่าเท่าไหร่ จนตอนที่ได้เข้าไปอยู่ในป่าถึง 5 - 6 ปี เราอยู่กับป่าจนเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับป่าได้ มันมีน้ำ มีห้วย มีน้ำซับ ซึ่งบ้านผมเรียกว่า น้ำซับ (เป็นการไหลของน้ำใต้ดินที่ตัดกับผิวดินโดยธรรมชาติ) พอมารวมกันอยู่ก็จะเรียกว่าน้ำซัม คนเหนือจะเรียกน้ำฮู คือเราก็อยู่กับป่ามาแบบนี้ จึงมีความรู้สึกผูกพันกับป่าขึ้นมาก พออกจากป่ามาก็มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมผืนป่า เช่น อุ้มผางและห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นผืนป่าตะวันตกที่อยู่ในใจเราตลอด บางทีก็ไปป่าคนเดียวแบบไปเช้ากลับเย็น เพราะรู้สึกชอบเรื่องราวในป่า แต่ในวันนี้การจะเข้าป่าก็ต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยอำนวยความสะดวก เพราะสมัยนี้พื้นที่ป่าเป็นเขตอนุรักษ์หรือเขตสงวนหมดแล้ว อย่างตอนไปอุ้มผางและห้วยขาแข้ง ซึ่งเราเข้าไปเก็บเกี่ยวเรื่องราว และมีกลุ่มศิลปินที่ไปเขียนรูป ส่วนเราก็ไปเก็บเรื่องราวมาเขียน รวมถึงสร้างความประทับใจไว้ในบทเพลงอะไรแบบนั้น”
เมื่อมีความผูกพันกับป่าพร้อมกับการเป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่างเต็มตัวแล้ว ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นเหมือนตัวชักนำที่ทำให้น้าหงามารู้จักกับกาแฟ เมื่อตอนที่มีโอกาสได้ขึ้นไปเล่นดนตรีบนดอย และกลายเป็นที่มาที่ไปของกาแฟรักษ์ป่า ภายใต้แบรนด์ชื่อว่า “Uncle Coffee”
พอได้รู้เรื่องราวของกาแฟก็รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์
และเมื่อได้เรียนรู้ถึงรายละเอียดของกาแฟมากขึ้น ก็มีความรู้สึกว่ากาแฟมันอร่อยขึ้น
“น้องที่ทำงานด้านอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นนักวิชาการและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชวนไปลุยป่า เราก็ไปโดยที่ไม่รู้ว่าเขาให้ไปเล่นดนตรีในงานอะไร ก็คิดว่าไปเล่นเพื่อขึ้นไปเยี่ยมพี่น้องบนดอย แต่ปรากฏว่าได้ไปเล่นในงานปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นการปลูกกาแฟในพื้นที่แบบช่องระหว่างภูเขา ซึ่งจะมีทางที่ชาวบ้านใช้สัญจร พวกเขาก็ไปปลูกกันตรงนั้นบริเวณข้างทางซึ่งมีลักษณะเป็นป่า ตอนนั้นเราก็ทึ่งนะว่ามันมีวิธีปลูกแบบนี้ด้วย คือปลูกโดยการไม่เผาถางป่า แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่ได้สนใจในเรื่องของกาแฟเท่าไหร่ หลังจากนั้น 10 ปี เรากลับไปที่ที่ชาวบ้านปลูกกาแฟอีกครั้งหนึ่ง จึงเห็นว่าผลผลิตกาแฟตรงนี้มันสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน หลังจากนั้นเราก็เริ่มหันมาสนใจกาแฟ ซึ่งในตอนแรกไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรเกี่ยวกับกาแฟ แต่ก็กินกาแฟโดยที่ไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุมาอย่างไร กาแฟที่กินก็เป็นกาแฟทั่วไป แบบพวกกาแฟสำเร็จรูป จนได้มากินกาแฟแท้ๆ ที่เขาดริปกัน หลังจากนั้นพอได้รู้เรื่องราวของกาแฟก็รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ และเมื่อได้เรียนรู้ถึงรายละเอียดของกาแฟมากขึ้น ก็มีความรู้สึกว่ากาแฟมันอร่อยขึ้น”
หลังจากวันนั้นน้าหงาจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับกาแฟป่า โดยที่น้าหงาไม่เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าไหนมาก่อนเลย และชื่อ Uncle Coffee ก็เกิดจากน้าหงามีความคิดอยากจะเปิดร้านกาแฟที่ชื่อว่า ลุงหงากาแฟ แต่ยังเปิดไม่ได้ จึงขอนำมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ไปก่อน
“เราก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำอะไรมากเท่าไหร่ เพราะเขาก็ทำกันไว้หมดแล้ว คนที่เข้ามาทำก็เป็นคนที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ เราเพียงแต่ไปจอยในฐานะที่คบค้ากันมานาน ซึ่งเราไปเล่นให้เขาหลายๆ ครั้ง เล่นในพื้นที่ป่าที่เขาปลูกกาแฟนั่นแหละ แล้วเขาก็ทำแบรนด์ หลังจากนั้นก็ให้เรามาเป็นกึ่งพรีเซนเตอร์ ซึ่งก็ไม่ได้มีทุนไปลงหรอก มีแต่ใจ แบบเอาตัวเองลงไป ไม่ได้ลงเป็นเงิน แล้วเรารู้สึกว่าเออมันก็ดีเหมือนกันที่ได้ Present ตรงนี้ออกไปร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นกาแฟอินทรีย์ที่เป็นกาแฟไม่ทำลายธรรมชาติ และเราเองก็ดีใจที่เข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงที่เขาเอาเรามาช่วยเสริมให้ผลิตภัณฑ์นี้มันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา”
การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ เป็นวิธีการปลูกที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟสามารถอาศัยอยู่กับป่าได้ Uncle Coffee จึงคว้าโลโก้ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นการรับรองมาตราฐานในระดับสากลอย่าง Rainforest Alliance มาได้
หลังจากสร้างแบรนด์ Uncle Coffee แล้ว และด้วยวิธีการปลูกเป็นในรูปแบบของวนเกษตร ที่บ้านแม่หางหลวง ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย คือการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ เป็นวิธีการปลูกที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟสามารถอาศัยอยู่กับป่าได้ Uncle Coffee จึงคว้าโลโก้ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นการรับรองมาตราฐานในระดับสากลอย่าง Rainforest Alliance มาได้
“ตอนนี้ที่มีการตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ป่า เขตสงวน ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ตรงไหนที่ชาวบ้านเขาอยู่มาก่อนเราก็ให้เขาทำความเข้าใจและให้การศึกษาว่าให้เขาอยู่อย่างไรกับป่า ซึ่งเขาก็อยู่กันได้ อย่างแถวขุนลาว แถวแม่หาง ที่เขาก็ไม่ได้เป็นผู้ทำลายป่า เพราะต้องอาศัยต้นน้ำลำธาร ซึ่งน้ำในลำธารก็ยังสะอาดใส เขาใช้น้ำในลำธารดื่มกิน จึงต้องการน้ำที่สะอาดเหมือนกัน เลยไม่ได้ทำให้มันปนเปื้อนหรือทำลาย มันจึงเป็นป่าต้นน้ำที่ดำรงอยู่ ผมชอบและประทับใจตรงนี้ ส่วนตัวเราก็คอยเชียร์ให้พวกเขารักษาจิตสำนึกอย่างนี้ไปนานๆ”
เคยไปเห็นที่ลาว คือภูเขาทั้งลูกเป็นสวนกาแฟเขาหมดเลย
ผมไม่เห็นด้วยในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งป่ามันถูกทำลายไปเยอะ
ปัจจุบันมีการปลูกกาแฟทั้งแบบฟาร์มเชิงเดี่ยวและระบบวนเกษตร หรือการปลูกใต้ร่มเงาไม้ (Shade grown coffee) ซึ่งน้าหงามีความผูกพันกับป่ามาตั้งแต่ไหนแต่ไร จึงมีมุมมองเกี่ยวกับการทำฟาร์มแบบเชิงเดี่ยวให้เราได้ชวนคิดตาม
" กาแฟดีๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่สร้างขึ้นมาบนความฉิบหายของธรรมชาติ
เพราะฉนั้นกาแฟที่เรากินอร่อยกันทุกวันนี้ จะต้องไม่ทำร้ายธรรมชาติด้วย "
“ผมไม่มีความรู้ด้านเชิงเดี่ยวนะ แต่เคยไปเห็นที่ลาว คือภูเขาทั้งลูกเป็นสวนกาแฟเขาหมดเลย ผมไม่เห็นด้วยในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งป่ามันถูกทำลายไปเยอะ เหมือนอย่างบ้านเราก็ทางจังหวัดน่าน ที่ป่าหมดไปเพื่อปลูกข้าวโพด เพราะชาวบ้านเผาพื้นที่ จึงไม่เห็นด้วยกับการปลูกกาแฟแบบฟาร์มเชิงเดี่ยว เพราะมันทำลายป่า ซึ่งมันเป็นมรดกโลกนะ เป็นสิ่งที่โลกสร้างไว้ ไม่เกี่ยวกับมนุษย์เลย เขาอยู่ของเขามานานแล้ว ต้นไม้บางต้นอยู่มานานกว่าเราอีกดังนั้นสิ่งที่เผาไปมันคือธรรมชาติล้วนๆ เลย เขาใช้เวลาตั้งกี่ปีไม่รู้ในการสร้างป่าขึ้นมา แต่เราใช้เวลาไม่กี่นาทีในการทำลาย แล้วมันคือป่าต้นน้ำทั้งนั้น ถ้าชาวบ้านหรือเกษตรกรส่วนใหญ่ทำแบบนี้กัน คือเอาป่ามาเป็นสมบัติส่วนตัว รับรองว่าผืนป่าไม่เหลือแน่นอน กาแฟดีๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่สร้างขึ้นมาบนความฉิบหายของธรรมชาติ เพราะฉนั้นกาแฟที่เรากินอร่อยกันทุกวันนี้ จะต้องไม่ทำร้ายธรรมชาติด้วย”
เมื่อเกษตรกรสร้างความยั่งยืนให้กับป่าได้แล้ว ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็อาจจะต้องหันกลับมาคิดว่า ต้นสายปลายเหตุของกาแฟที่ดื่มอยู่ตอนนี้มีความเป็นมาอย่างไร เบียดเบียนธรรมชาติหรือไม่ การหันมาดื่มกาแฟบนหลักการของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน อาจจะต้องนำมาเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยถึงเรื่องของการสร้างความยั่งยืนในสังคมกาแฟกันต่อไป
Comments