การปลูกกาแฟของหมู่บ้านอะบอโด จะดำเนินคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันทุกครัวเรือนในหมู่บ้านต่างก็ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จนได้ชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านกาแฟ” อีกแห่งหนึ่ง
จากตำบลท่าก๊อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร จากทางแยกที่หากไปทางซ้ายจะไปบ้านแม่จันใต้ แต่หากลองเลี้ยวไปทางขวา แล้วมุ่งหน้าไปอีก 16 กิโลเมตร คุณจะพบกับหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่แม้จะทำกาแฟไม่มากเท่าแหล่งอื่น แต่ก็เต็มไปด้วยความตั้งใจและความพิถีพิถันจากเหล่าเกษตรกรผู้ปลูก จนกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งกาแฟคุณภาพของจังหวัดเชียงราย
อะบอโด หมู่บ้านที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขาเหนือจากระดับน้ำทะเล 1,200 - 1,400 เมตร ของตำบลท่าก๊อ อำเภอ แม่สรวย จังหวัดเชียงราย แม้จะอยู่ไม่ไกลจากบ้านแม่จันใต้ที่โด่งดัง แต่ที่นี่กลับเป็นหมู่บ้านที่น้อยนักจะมีคนเดินทางเข้ามาถึง เนื่องจากเส้นทางที่อาจจะยังไม่สะดวกสบายเท่าที่อื่นแต่สำหรับคนรักกาแฟ ที่นี่คือสถานที่ที่คุณควรไปเยือนให้ได้สักครั้ง เพราะคุณจะได้เห็นกระบวนการผลิตกาแฟพิเศษที่พิถีพิถัน การทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกกาแฟร่วมกับธรรมชาติ เนื่องจากที่นี่ ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่เขตป่าสงวน ผนวกรวมกับชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องการดูแลป่าที่สืบทอดกันมา จึงทำให้การปลูกกาแฟของหมู่บ้านอะบอโด จะดำเนินคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันทุกครัวเรือนในหมู่บ้านต่างก็ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จนได้ชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านกาแฟ” อีกแห่งหนึ่ง
“อะบอโด” เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติคนที่ก่อตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้นมา ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเป็นของตนเองมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบันวัฒนธรรมเหล่านั้นก็ยังคงอยู่คู่กับคนในชุมชนเสมอมา
ภูมิหลังของชาวบ้านอะบอโด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่ย้ายมาจากหมู่บ้านมะขามป้อม ก่อนจะมาตั้งรกรากที่นี่ในช่วงปี 2528 โดยชื่อ “อะบอโด” เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติคนที่ก่อตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้นมา ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเป็นของตนเองมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบันวัฒนธรรมเหล่านั้นก็ยังคงอยู่คู่กับคนในชุมชนเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ รวมไปเรื่องของอาหาร ทั้งนี้ ปัจจุบันหมู่บ้านอะบอโดมีวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตของอาข่าแบบดั้งเดิม กับวิถีชีวิตอาข่าแบบคนไทยพื้นราบ ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ย้อนไปก่อนที่จะกลายเป็นหมู่บ้านกาแฟเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านที่นี่เคยดำรงชีวิตด้วยการปลูกฝิ่นมาก่อน จนถึงประมาณปี 2543 ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้ เพื่อให้ชาวบ้านปลูกพืชอื่นแทนฝิ่น ในช่วงแรกชาวบ้านเลือกที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่เมื่อเวลาผ่านไป การปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็เริ่มส่งผลกระทบเพราะดินในหมู่บ้านเริ่มเสีย ชาวบ้านจึงเข้าไปปรึกษาปัญหากับทางเกษตรที่สูง และได้รับคำแนะนำให้ปลูกกาแฟ เพื่อเป็นการฟื้นฟูดิน และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
ในช่วงแรกของการปลูกกาแฟ ชาวบ้านยังไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องการดูแลต้นกาแฟที่ถูกต้อง จึงทำให้ชาวบ้านได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร จนเกิดการท้อถอย และเกือบจะล้มเลิกการปลูกกาแฟไปแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง โชคดีที่มีคนในหมู่บ้านตระหนักได้ถึงการหาความรู้ในเรื่องการเพาะปลูก จึงตัดสินใจกลับไปปรึกษาปัญหานี้กับโครงการหลวงอีกครั้ง และเมื่อผนวกกับสถานที่ตั้งของหมู่บ้านมีความเหมาะสม ทั้งสภาพแวดล้อม ดิน และน้ำ เมื่อชาวบ้านได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ต้นกาแฟของหมู่บ้านจึงสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และให้ผลผลิตจนสามารถสร้างรายได้ให้คนในหมู่บ้านได้อย่างสวยงาม
การผลิตกาแฟด้วย “ระบบการปลูกพืชแบบผสมสาน” ด้วยการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ผสมสานความกลมกลืนระหว่างไม้ยืนต้นกับพืชอื่น ๆ เช่น แมคคาเดเมีย บ๊วย พลับ ได้อย่างลงตัว เพื่อช่วยลดการพึ่งพาสารเคมี และเพิ่มรายได้จากพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ
“คนที่นี่ปลูกกาแฟ เพราะไม่อยากทำไร่เลื่อนลอย โชคดีที่ที่นี่มีสภาพแวดล้อมดี ทั้งอากาศได้ ทั้งอากาศ ทั้งดิน ทั้งน้ำ กาแฟของเราก็เลยโตวันโตคืน เราพยายามใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ พื้นที่เราดี ดินของเราสมบูรณ์อยู่แล้ว ถ้าเราปลูกกาแฟดี ๆ ดูแลรักษาดี ๆ กาแฟของเราก็จะมีรสชาติดี คือ อย่างอื่นไม่รู้ แต่เรามั่นใจว่าเมล็ดกาแฟของเราเม็ดใหญ่ไม่แพ้ที่อื่นแน่นอน”
คุณสา (สุชานรี เชอมือ) เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของหมู่บ้านอะบอโดกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ โดยครอบครัวของคุณสาถือเป็นรุ่นบุกเบิกการปลูกกาแฟในหมู่บ้าน คุณสาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลาที่ชาวบ้านเกิดการท้อถอยในการปลูกกาแฟ จนมีการล้มเลิกการปลูกไปแล้วช่วงหนึ่ง ตอนนั้นมีครอบครัวที่ยังคงปลูกอยู่เพียง 2 ครอบครัวเท่านั้น โดยหนึ่งในนั้นคือครอบครัวของคุณสาที่ยังคงมุ่งมั่นและหาความรู้เพื่อพัฒนาการปลูกกาแฟต่อมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นหัวเรือใหญ่ของหมู่บ้านในปัจจุบัน
การจำหน่ายกาแฟของชาวบ้าน ในช่วงแรกชาวบ้านจะมีการจำหน่ายกาแฟในรูปของเชอร์รี โดยจะขายให้โครงการหลวงเป็นหลัก และส่วนหนึ่งจะขายผ่านพ่อค้าคนกลาง หลังจากจำหน่ายกาแฟในรูปแบบเชอร์รีเป็นเวลาหลายปีชาวบ้านอะบอโดก็เริ่มเรียนรู้วิธีการแปรรูป และจำหน่ายกาแฟในรูปแบบของกะลา นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้กาแฟมีคุณภาพสูงขึ้นรวมถึงการผลิตกาแฟด้วย “ระบบการปลูกพืชแบบผสมสาน” ด้วยการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ผสมสานความกลมกลืนระหว่างไม้ยืนต้นกับพืชอื่น ๆ เช่น แมคคาเดเมีย บ๊วย พลับ ได้อย่างลงตัว เพื่อช่วยลดการพึ่งพาสารเคมี และเพิ่มรายได้จากพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ป้องกันการกัดเซาะ และกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น เพื่อให้พืชสามารถทนต่อสภาพอากาศในฤดูแล้งอีกด้วย
บ้านอะบอโดจะมีระบบการจัดการ โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยและพื้นทีอนุรักษ์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเรือน โบสถ์ ศาลา พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ทำกิน โดยในจำนวนนี้มีพื้นที่สำหรับปลูกกาแฟอยู่ราว 1,200 ไร่ มีพื้นที่ป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาว ที่จัดเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีพืชสมุนไพรท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก และยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้ ประกอบกับที่นี่เคยผ่านพ้นยุคของการปลูกฝิ่นก่อนจะมาสู่ยุคการทำไร่กาแฟ จึงทำให้ดินของที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์และมีแร่ธาตุสูง เมื่อรวมกับปัจจัยอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง อากาศ น้ำ หรือแม้แต่แร่ธาตุ ที่สามารถฟื้นฟูและหล่อเลี้ยงต้นกาแฟให้สมบูรณ์ จึงทำให้เมล็ดกาแฟของหมู่บ้านอะบอโด มีขนาดเมล็ดที่ใหญ่กว่าทั่วไป แม้จะมีปริมาณไม่มาก แต่ก็โดดเด่นด้วยกลิ่นและรสชาติในโทนของผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม แอปเปิ้ลเขียว หวานชุ่มคอด้วยมะขามป้อม เรียกว่าพิเศษถูกใจคอกาแฟแน่นอน
" เมล็ดกาแฟของหมู่บ้านอะบอโด มีขนาดเมล็ดที่ใหญ่กว่าทั่วไป แม้จะมีปริมาณไม่มาก แต่ก็โดดเด่นด้วยกลิ่นและรสชาติในโทนของผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม แอปเปิ้ลเขียว หวานชุ่มคอด้วยมะขามป้อม "
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX
Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler/ coffeetravelermag
Comments