top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

โรบัสตา กับ เส้นทางแห่งการพัฒนาสายพันธุ์

Updated: Dec 6


Photo credit : Coffee Traveler

" ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โรบัสตา (C. canephora) ได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญในตลาดกาแฟ โดยเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 40% ของผลผลิตกาแฟทั้งหมดทั่วโลก "


ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โรบัสตา (C. canephora) ได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญในตลาดกาแฟ โดยเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 40% ของผลผลิตกาแฟทั้งหมดทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 1990 และในอนาคตคาดว่าความต้องการของกาแฟสายพันธุ์นี้จะไม่มีการชะลอตัวลง แต่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของโรบัสตายังคงไม่แน่นอน และยังต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่


ภายในปี 2040 โลกอาจต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการกาแฟโรบัสตาที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกาแฟอาราบิกาในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกาแฟถึง 35 ล้านกระสอบ และแม้ว่ากาแฟโรบัสตาจะมี “ความแข็งแกร่ง” มากกว่ากาแฟอาราบิกาในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โรคและแมลง ที่ทำลายล้างอย่างรุนแรงได้ ในประเทศผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงมีการเพาะพันธุ์ หรือพยายามปรับปรุง เพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังคืบคลานเข้ามาเหล่านี้ ซึ่งได้ส่งผลอย่างมากในการปรับปรุงคุณภาพของกาแฟสายพันธุ์นี้ที่ถูกมองข้ามมานาน


ด้วยแนวคิดนี้ ในปี 2023 WCR จึงเริ่มออกเดินทางเพื่อสำรวจโอกาสในการเสริมสร้างการผลิตโรบัสตาทั่วโลกผ่านการวิจัยและการผสมพันธุ์ที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา นิตยสาร Coffee Traveler ก็ได้ติดตามข่าวสารการวิจัยและพัฒนากาแฟสายพันธุ์โรบัสตาของ WCR มาโดยตลอด และเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงถือโอกาสนำผลการดำเนินงานบางส่วนมาสรุปไว้ในที่นี่


เส้นทางกาแฟโรบัสตา

การปลูกกาแฟพันธุ์ Coffea canephora Pierre ex A. Froehner หรือที่รู้จักกันในเชิงพาณิชย์ในชื่อพันธุ์ Robusta เริ่มต้นอย่างเป็นทางการขึ้นราวปี 1870 ในประเทศคองโก โดยใช้สารพันธุกรรมจากภูมิภาคแม่น้ำ Lomani ของ Zaïre ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยก่อนหน้านั้นหลายทศวรรษ ได้มีการเพาะปลูกแบบเล็ก ๆ ในครัวเรือนโดยเกษตรกรรายย่อย


ในช่วงปี 1880 ชาวฝรั่งเศสที่ไปตั้งรกรากในอีเคลเตอร์ ได้พบโรบัสตา ในภาคใต้ของเมือง Loongo ซึ่งอยู่ระหว่างเมือง Gabun และแม่น้ำคองโก โดยเฉพาะแถบแม่น้ำ Kouilou-Niari ที่มีกาแฟสายพันธุ์นี้เจริญงอกงามอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานว่ากาแฟสายพันธุ์นี้ได้มีการปลูกแพร่หลายทั่วไปมานานแล้ว นักพฤกษศาสตร์ Louis Pierre จึงตั้งชื่อสายพันธุ์นี้ว่า C. canephora ในปี 1895 Pierre ซึ่งทำงานในพิพิธภัณฑ์ Muséum National d'Histoire Naturelle ในประเทศฝรั่งเศส ได้รับตัวอย่างพืชที่รวบรวมในกาบองจากบาทหลวง Théophile Klaine ชื่อนี้จึงได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกพร้อมกับคำอธิบายสายพันธุ์โดย Froehner ในปี 1897


หนึ่งปีต่อมา Edouard Luja ได้รวบรวมสายพันธุ์กาแฟที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ 10 สายพันธุ์ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เพื่อเตรียมการสำหรับงาน Paris Exposition ในปี 1900 ระหว่างภารกิจนี้ Luja ได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์กาแฟสายพันธุ์ใหม่หลายพันเมล็ดจากไร่โรบัสตาแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ซึ่งตั้งอยู่โดยรอบ Lusambo และนั่นทำให้ Belgian Congo กลายเป็นศูนย์กลางความหลากหลายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่สายพันธุ์เหล่านี้กระจายไปทั่วเขตร้อน


เมื่อถึงปลายศตวรรษ โรบัสตาก็เริ่มแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก เมล็ดพันธุ์โรบัสตาจากคองโกถูกส่งไปยัง Brussels จากนั้นจึงส่งต่อไปยังเกาะชวาในอินโดนีเซียภายใต้ชื่อ “โรบัสตา” เหล่าเกษตรกรยอมรับโรบัสตาได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถให้ผลผลิตที่สูง และทนทานต่อโรคราสนิม ซึ่งกำลังมีการระบาดครั้งใหญ่ในกาแฟอาราบิกาที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือการเพาะปลูกโรบัสตาอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นครั้งแรกที่อินโดนีเชีย ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สารกาแฟโรบัสตาชนิดอื่น ๆ ที่ถูกคัดเลือกจากป่าก็ถูกส่งไปยังพื้นที่ใน Coast , Guinea และ Uganda เช่นกัน

จากที่กล่าวมา จึงทำให้โรบัสตาแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มจากการเข้าสู่ประเทศอินโดนีเชียผ่านเกาะชวา และต่อมาก็มีการนำเข้าจากแอฟริกาตะวันตก เมล็ดกาแฟที่ถูกคัดเลือกจากเกาะชวาถูกนำกลับมาแอฟริกากลางอีกครั้งตั้งแต่ปี 1910 และถูกส่งไปยัง Belgian Congo ในปี 1916 ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการเกษตรกรรมคองโก (INEAC) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์ส่วนใหญ่ตั้งแต่ปี 1930 ถึง 1960 ในแอฟริกา โรบัสตาเติบโตใน Madagascar, Uganda, Ghana, และ Ivory Coast โดยมักจะผสมพันธุ์กันผ่านการผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ที่นำเข้ามาจากการผลิตเชิงพาณิชย์ในส่วนอื่น ๆ ของทวีป


ต่อมาโรบัสตาได้ถูกนำเข้าสู่ละตินอเมริกา ในปี 1912 Conilon ก็ได้ถูกนำเข้าสู่ Espiritu Santo ในบราซิล การนำเข้าเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมในอเมริกากลางผ่านกัวเตมาลาเกิดขึ้นระหว่างปี 1930–1935 หลังปี 1960 จึงได้มีการรวบรวมและแลกเปลี่ยนโรบัสตาที่ตรงเป้าหมายและประสานงานกันทั่วโลกมากขึ้นจาก "centers of domestication" ด้วยการจัดตั้งธนาคารยีนใน Cameroon, Ivory Coast, Madagascar, และ India นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคอลเลกชันพลาสมาพันธุกรรมที่ ศูนย์วิจัยและการศึกษาด้านการเกษตรเขตร้อน (CATIE) และศูนย์รวบรวมกาแฟนานาชาติ (CICC) ในคอสตาริกา สถาบันเหล่านี้ได้นำต้นโรบัสตา " French lines" เข้ามาในระหว่างปี 1981–1983


ตามรายงานเรื่อง Opportunities for robusta variety innovation ของ World Coffee Research กล่าวว่า ปัจจุบัน กาแฟโรบัสตา 95% ของโลก ผลิตโดยประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ 6 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เวียดนาม บราซิล อินโดนีเซีย ยูกันดา อินเดีย และโกตดิวัวร์ นอกจากนี้ ในรายงานยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและโอเชียเนียเป็นผู้ผลิตกาแฟโรบัสตารายใหญ่ที่สุด โดยผลิตกาแฟโรบัสตาได้ 60% ของผลผลิตกาแฟโลก โดยผลิตกาแฟได้ 41.5 ล้านถุงขนาด 60 กิโลกรัมต่อปี รองลงมาคืออเมริกาใต้ ซึ่งผลิตกาแฟโรบัสตาได้ 28% ของส่วนแบ่งกาแฟโลก โดยผลิตกาแฟได้ 19.8 ล้านถุงในปี 2020-21


Photo credit : Coffee Traveler

ค้นหาศักยภาพที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่

“ทั้งอาราบิกาและโรบัสตาต่างก็มีบทบาทในอุตสาหกรรมกาแฟ โดยทั้งสองสายพันธุ์นี้เป็นตัวเลือกให้เกษตรกรสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม หลายครั้งโรบัสตาสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะต่อการปลูกอาราบิกา อย่างไรก็ตาม ประโยชน์หลักประการหนึ่งของโรบัสตา คือการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้นเร็วกว่าและคุ้มทุนกว่าอาราบิกา ตัวอย่างเช่น เทคนิคการเสียบยอดและการตัดยอดจะประสบความสำเร็จมากกว่าสำหรับสายพันธุ์นี้” Emilia Umaña ผู้จัดการอาวุโสของโครงการเพาะชำเพื่อการวิจัยกาแฟโลก (WCR) กล่าว


การคาดการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงภายในปี 2050 บ่งชี้ว่าการเพาะปลูกกาแฟพันธุ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันอาจไม่ยั่งยืนอีกต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกาแฟหลายล้านกระสอบภายในปี 2030 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนนี้ WCR จึงทำการเพาะพันธุ์กาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ใหม่ผ่านเครือข่ายการเพาะพันธุ์กาแฟระดับโลกของ Innovea เพื่อให้แน่ใจว่าสายพันธุ์กาแฟจะทนต่อสภาพอากาศได้ดีขึ้น โดยลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงประชากรและปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในอนาคต อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ จึงได้มีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติเชิงบวกและเป็นที่ต้องการของตลาดที่มีอยู่ในสายพันธุ์กาแฟ


ข้อควรระวังประการหนึ่งเมื่อมีการสนทนาเกี่ยวกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของโรบัสตาในตลาดก็คือ เมล็ดของโรบัสตามีความแตกต่างในแง่ของรสชาติและคุณภาพของกาแฟ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้โรบัสตาถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานเกี่ยวกับรสชาติ ตัวอย่างเช่น กาแฟที่ชงจากเมล็ดโรบัสตามักจะมีความเป็นกรดต่ำกว่า มีรสขมกว่า และมีรสชาติเข้มข้นกว่า เนื่องจากมี Pyrazine ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นรสซาโวรี่ แต่หลายคนในอุตสาหกรรมรู้ดีว่าเมื่อจัดการและแปรรูปอย่างถูกต้อง โรบัสตาจะสามารถนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะทางได้


Dr. Veronica Belchior นักวิจัยด้านการประเมินคุณภาพกาแฟของ WCR กล่าวว่า “แนวโน้มใหม่ในการแปรรูปโรบัสตาคือการใช้การหมักเป็นขั้นตอนสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพ คนมักจะพูดว่าโรบัสตาที่ผ่านการหมักมักจะมีรสชาติที่สะอาดกว่าและมีกลิ่นหอมอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่คือกลิ่นไวน์ วิสกี้ และกลิ่นสมุนไพร”


ความพยายามในการประมวลผลทางการเกษตร และการเก็บเกี่ยวหลังการเก็บเกี่ยวสามารถสร้างความแตกต่างในทันที ซึ่งมีสำคัญต่อการผลิตและคุณภาพของโรบัสตา อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อุตสาหกรรมกาแฟกำลังพิจารณาการเพิ่มการผลิตโรบัสตาให้เป็นวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่กำลังจะเกิดขึ้น และความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ อุตสาหกรรมกาแฟ เราจะต้องค้นหาศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้ของสายพันธุ์นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพในเชิงพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นคือจุดที่วิทยาศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทนั่นเอง


ความหลากหลายทางพันธุกรรม

โรบัสตา เป็นสายพันธุ์กาแฟที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม โดยกาแฟที่ปลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงจากบรรพบุรุษในธรรมชาติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ กาแฟโรบัสตายังเป็นญาติทางพันธุกรรมรองของกาแฟอาราบิกา ซึ่งทำให้มีความต้านทานโรคและแมลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีรูปแบบที่ไม่รู้จักมากมายในกลุ่มยีนของกาแฟโรบัสตา รวมถึงลักษณะที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของกาแฟ โดยรวมแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้สำรวจรูปแบบที่ซ่อนอยู่เหล่านี้


“การศึกษาด้านพันธุกรรมก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า C. Canephora มีความหลากหลายสูงและมีกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันมากมาย อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายที่เป็นประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ยังขาดหายไป เนื่องจากความพยายามในการผสมพันธุ์ยังคงแยกจากกันค่อนข้างมาก การเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของสายพันธุ์และการบูรณาการเป็นส่วนสำคัญของการได้รับพันธุกรรมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน” Dr. Jorge Berny นักวิจัยด้านการผสมพันธุ์และจีโนมิกส์ของ WCR กล่าว


มีการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันมากมายเพื่อเรียกโรบัสตาตามพื้นที่ที่ปลูก อย่าง “robusta,” “conilon,” “nganda,” “koillou/quillou” และอื่น ๆ คำศัพท์เหล่านี้โดยทั่วไปเป็นคำศัพท์เฉพาะตามภูมิภาค เป็นภาษาพูด และบางคำก็ไม่สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมเฉพาะเจาะจง มีหลายสาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมของโรบัสตาคลุมเครือ เนื่องจากโรบัสตาจำเป็นต้องผสมเกสรข้ามสายพันธุ์ เพราะต้นโรบัสตาต้นเดียวไม่สามารถผสมเกสรดอกไม้ของตัวเองได้ เช่นเดียวกับต้นอาราบิกา ดังนั้นสายพันธุ์ย่อยที่ปลูกในแปลงเดียวกันจึงมักจะมีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กัน ผลจากระบบผสมพันธุ์นี้ ทำโรบัสตาที่ปลูกไม่ได้มีความสม่ำเสมอทางพันธุกรรมโดยทั่วไป ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองปลูกสายพันธุ์หรือสายพันธุ์ย่อยใดกันแน่


สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้คือ โรบัสตาเป็นสายพันธุ์ที่มีโครโมโซมคู่ แบ่งออกเป็นกลุ่มพันธุกรรมกว้าง ๆ สองกลุ่ม คือ กินีและคองโก กลุ่มกินีซึ่งโดยทั่วไปมีลักษณะเด่นคือปล้องแคบ มีปริมาณคาเฟอีนสูง น้ำหนักเมล็ดต่ำ ทนต่อภาวะแล้ง แตกกิ่งก้านสาขา และเก็บเกี่ยวได้เร็ว มีต้นกำเนิดในแอฟริกากลาง-ตะวันตก ในขณะที่กลุ่มคองโกซึ่งโดยทั่วไปมีลักษณะเด่นคือทนต่อโรคราสนิมได้ดีกว่า มีปริมาณคาเฟอีนปานกลาง น้ำหนักเมล็ดสูง ไวต่อภาวะแล้ง ปล้องใหญ่ เจริญเติบโตสูง และเก็บเกี่ยวได้ช้า มีต้นกำเนิดในแอฟริกากลาง ในสองกลุ่มนี้ โรบัสตาคองโกเป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายที่สุด นอกจากนี้ ในแต่ละกลุ่มยังมีประชากรหรือกลุ่มย่อยที่แตกต่างกัน


การวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมภายในสายพันธุ์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าโดยทั่วไปแล้ว โรบัสตามีความแตกต่างกันและแยกออกจากกันทางพันธุกรรมได้ดี ภายใต้เงาของวิกฤตสภาพอากาศที่เลวร้ายและผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ตระหนักดีว่าการค้นพบความหลากหลายทางพันธุกรรมของโรบัสตา จะช่วยปลดล็อกศักยภาพอันยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรม ในการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติเชิงบวกของสายพันธุ์เพื่อผลประโยชน์ของทุกคน


Photo credit : Coffee Traveler

" การจัดเตรียมเส้นทางสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับกาแฟโรบัสตา เช่นเดียวกับที่ทำกับกาแฟอาราบิกา จะสามารถช่วยปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและอุตสาหกรรมกาแฟ และสร้างอนาคตให้กับเครื่องดื่มที่เราชื่นชอบต่อไป "


กรุยทางไปสู่อนาคต

นักวิทยาศาสตร์พยายามอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่ากาแฟอาราบิกาและโรบัสตา จะสามารถคงความยั่งยืนและทนต่อสภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของตลาด เป็นที่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมกาแฟกำลังเผชิญกับการขาดการลงทุนในนวัตกรรมกาแฟมาอย่างยาวนาน และความท้าทายมากมายที่ขัดขวางการผลิตที่ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแต่ปริมาณและคุณภาพของกาแฟเท่านั้นที่ตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของผู้คนนับล้านที่ต้องพึ่งพากาแฟเป็นหลักอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้ยังมีอยู่อย่างจำกัดในหมู่ผู้ซื้อ ผู้บริโภค หรือแม้แต่ผู้ผลิตเอง นอกจากนี้ ยังต้องมีการตระหนักถึงศักยภาพทั้งหมดของกาแฟอาราบิกา ในการตอบสนองความต้องการของตลาดสำหรับกาแฟคุณภาพสูง ปริมาณการผลิต และความทนทานต่อสภาพอากาศ การจัดเตรียมเส้นทางสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับกาแฟโรบัสตา เช่นเดียวกับที่ทำกับกาแฟอาราบิกา จะสามารถช่วยปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและอุตสาหกรรมกาแฟ และสร้างอนาคตให้กับเครื่องดื่มที่เราชื่นชอบต่อไป


----


สามารถอ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์โรบัสตาได้ที่

World Coffee Research (WCR)

41 views0 comments

Recent Posts

See All

Комментарии


bottom of page