top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

ไร่กาแฟมากอเลอะ



" ไร่กาแฟที่ซ่อนตัวอยู่ในทิวเขาของบ้านน้ำโค้ง ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยป่าเขา บนความสูง 1,200 – 1,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล "


การเดินทางของกาแฟจากเมล็ดกาแฟสู่แก้วนั้นเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะการปลูกกาแฟพิเศษ หรือ Specialty Coffee ที่ต้องอาศัยความใส่ใจอย่างพิถีพิถันในรายละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเริ่มต้นปลูกต้นกาแฟไปจนถึงการชงในขั้นสุดท้าย ในบรรดากาแฟหลายสายพันธุ์ หนึ่งในสายพันธุ์ที่โดดเด่นทั้งในด้านรสชาติและคุณภาพ คือกาแฟสายพันธุ์เกอิชา (Geisha) มีชื่อเสียงในทั้งในด้านรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ กลิ่นที่หอมหวาน การเพาะปลูกที่จำเป็นต้องปลูกในแหล่งที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และการดูแลอย่างเชี่ยวชาญ การปลูกสายพันธุ์เกอิชา จึงเป็นความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งการบำรุงรักษาสภาพดิน การป้องกันแมลงศัตรูพืชและโรค ไปจนถึงการจัดการขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ดังที่คุณเหน่ง (เฉลิมพงค์ ฝั้นนา) ได้แสดงให้เราเห็น เมื่อคราวที่ทีมงาน Coffee Traveler ได้ไปเยือนไร่ “มากอเลอะ” ในช่วงที่ผ่านมา



" เกอิชาปลูกไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าเราเข้าใจมัน เราก็สามารถปลูกมันได้ไม่ต่างจากที่ปลูกคาร์ติมอร์เลย "


“เราส่งประกวดกาแฟทุกปี ตั้งแต่สมาคมเริ่มมีการประกวด เราก็ติดรางวัลมาตลอด เราได้ที่ 8 ที่ 6 ที่ 4 ที่ 11 บ้าง 12 บ้าง คือจริง ๆ เราก็อยากทำกาแฟเงียบ ๆ แต่ที่ส่งประกวดเพราะอยากรู้ว่ากาแฟเราอยู่ประมาณไหนจนมาปีนึง เราก็รู้สึกว่า ทั้งการ process และการเพาะปลูกของเรามันถึงที่สุดของมันล่ะ เราก็เริ่มเปลี่ยนความคิดว่า เราอยากก้าวข้ามไปสายพันธุ์อื่นนอกจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ ผมเคยแข่งไซฟอนอยู่ประมาณ 2 ปี แล้วเคยไปแข่งที่เกาหลีด้วย คือเอากาแฟไทยนี้แหละไปแข่งกับเกอิชานอก แล้วรู้สึกว่ายังไงมันก็สู้ไม่ได้ ต่อให้เราดูแลมันอย่างดี ใส่ปุ๋ยดีแค่ไหน แต่สายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ ก็ไม่สามารถสู่กับเกอิชาได้ จากนั้นผมก็บังเอิญได้เจอกับผู้เชี่ยวชาญในวงการกาแฟคนหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสถามเขาว่า จะมีโอกาสไหมที่เกษตรกรที่เขาทำกาแฟดี ๆ ส่งประกวด จะสู่กับกาแฟสายพันธุ์ดีอย่างเกอิชาได้ ซึ่งคำตอบคือ ยังไงมันก็สู้ไม่ได้ เพราะเราแข่งสุดยอดกาแฟ ไม่ได้แข่งสุดยอดสายพันธุ์กาแฟ แล้วผมก็เข้าใจ ผมเลยโทรหารองกล้วยบ้านมณีพฤกษ์ แล้วขอซื้อเมล็ดเกอิชาจากรองกล้วยมาปลูก ผมก็เอามาเพาะในที่ของผม แล้วก็แบ่งชาวบ้าน”


“มากอเลอะ (มา - กอ - เลอะ)” ไร่กาแฟชื่อแปลกที่คุณเหน่งยืนยันว่าเป็นภาษาเหนือที่แปลว่า “มาที่ไร่นี้เมื่อไหร่ก็เลอะ” ไม่ใช่ภาษาชนเผ่าหรือภาษากะเหรี่ยงอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยไร่นี้เป็นไร่กาแฟที่ซ่อนตัวอยู่ในทิวเขาของบ้านน้ำโค้ง ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยป่าเขา บนความสูง 1,200 – 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลอีกทั้งยังมีภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่พอเหมาะดินที่อุดมสมบูรณ์และมีคุณภาพดี แต่กว่าจะเป็นไร่กาแฟ ที่ปลูกกาแฟหลากสายพันธุ์ รวมถึงเกอิชาคุณภาพแบบนี้ ที่ไร่นี้ก็มีเรื่องเล่าและอุปสรรคมากมายเหมือนกัน



" เราอยากให้คนกินกาแฟของเรา แล้วรู้สึกว่ามันคือเกอิชา 100% ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งได้ดื่มกาแฟที่เป็นบ้านน้ำโค้ง กาแฟของไร่มากอเลอะจริง ๆ "


“ไร่นี้เคยถูกไฟไหม้เมื่อ 4 ปีก่อน ผลผลิตเสียหายเยอะมาก จากนั้นมาผมก็เลยขึ้นมาดูแลที่นี่ด้วยตัวเองทุกวัน ก็มีเหนื่อยบ้าง แต่ผมก็คิดว่าขนาดรองกล้วย กว่าเขาจะมาถึงทุกวันนี้ เขาก็ฟันต้นกาแฟทิ้งไปหลายต้น นอกจากเรื่องไร่แล้ว ก็มีเรื่องความยากในการปลูก สำหรับผม เกอิชาปลูกไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าเราเข้าใจมัน เราก็สามารถปลูกมันได้ไม่ต่างจากที่ปลูกคาร์ติมอร์เลยวิธีของผมคือ ในช่วงปีสองปีแรก เราอย่าไปยุ่งกับเขา เพราะระบบรากของเขาไม่แข็งแรงเท่าคาร์ติมอร์ คือผมจะปลูกแล้วทิ้งเลย แต่จะให้น้ำในช่วงฤดูร้อนด้วยสปริงเกอร์ รอเวลาสักปีครึ่งหรือสองปีให้ระบบรากเขาแข็งแรงก่อน พอเราเข้าใจตรงนี้ปุ๊บ โอกาสที่เขาจะรอดก็เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ล่ะ แน่นอนว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างคือเรื่องดิน ปกติเกอิชาจะปลูกในพื้นที่ 1,400 – 1,500 ขึ้นไปตามหลักการยิ่งแหล่งปลูกอยู่สูง อากาศก็ยิ่งเย็น การสุกของเชอร์รีจะช้า ทำให้เชอร์รีสามารถเก็บสารอาหารและสร้างสารประกอบกลิ่นได้มากขึ้น แต่แหล่งปลูกของผมสูงราว 1,200 – 1,300 ซึ่งถือว่าระดับความสูงค่อนข้างน้อย ผมจึงทดแทนด้วยการบำรุงดินอย่างเต็มที่ คือทุ่มเวลาแทบทั้งหมดไปกับการพัฒนาเรื่องดินกับเรื่องปุ๋ย เราใช้ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ และใบไม้ที่มันทับถม นอกจากนี้เรายังมีการทำกองปุ๋ยหมักไว้บนไร่ วิธีทำคือการขุดหลุมในไร่ แล้วเอาใบไม้ใส่เข้าไปในหลุม แล้วใช้ขี้วัวกลบด้านบน เพื่อให้ขี้วัวสร้างจุลินทรีย์ที่มันย่อยสลาย พอครบ 1 ปี ที่เรากลบเอาไว้มันก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมัก เราก็เอาอันนั้นขึ้นมาใส่

ต้นกาแฟ”


นอกจากการเพาะปลูกแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คุณเหน่งให้ความสำคัญคือการแปรรูปโดยเกอิชาจากไร่มากอเลอะ จะถูกแปรรูปด้วยวิธี Natural Process เพื่อให้เมล็ดกาแฟสามารถแสดงอัตลักษณ์ และรสชาติที่โดดเด่นตามธรรมชาติออกมาได้อย่างเต็มที่


“เราอยากให้คนกินกาแฟของเรา แล้วรู้สึกว่ามันคือเกอิชา 100% ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง คือในความคิดของผม การ Process กาแฟ หรือการหมัก โดยใช้น้ำมันก็คือการเติมอะไรลงไปแล้ว คือทุกอย่างมันจะเปลี่ยน เราก็เลยใช้วิธีแบบธรรมชาติเลย เพราะเราอยากให้เขาได้ดื่มกาแฟที่เป็นบ้านน้ำโค้ง กาแฟของไร่มากอเลอะจริง ๆ”


กาแฟที่ดี ต้องไม่ใช่แค่การปลูกกาแฟคุณภาพสูงเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถส่งเสริมความรู้ของชุมชนและความยั่งยืนด้วย คุณเหน่ง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ด้วยการแบ่งปันความรู้และเมล็ดเกอิชาให้กับชาวบ้าน เพื่อช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน พร้อมทั้งจ้างงานคนในชุมชนเพื่อให้มาทำงานในไร่กาแฟมากอเอละ ซึ่งแนวทางการทำงานร่วมกันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการปลูกกาแฟให้ได้คุณภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความผูกพันในชุมชน พร้อมทั้งสร้างอาชีพ เพื่อรับประกันความยั่งยืนให้กับครอบครัวที่มาทำงานกับคุณเหน่งด้วย และจากความทุ่มเทนั้น จึงทำให้เกอิชา จากไร่มากอเลอะ ได้รับรางวัลอันดับที่ 12 ประเภท Natural Process จากเวทีการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทย ครั้งที่ 11 ประจำปี 2567 ปัจจุบัน คุณเหน่งได้ต่อยอดความสำเร็จของกาแฟจากไร่ สู่ผู้บริโภค ผ่านร้าน Bannok Coffee Roaster & Farm (ร้านเสพศิลป์กลิ่นกาแฟบ้านนอก) และร้าน Coffee Collection ร้านกาแฟใจกลางตลาดจริงใจ สถานที่ที่คัดสรรเมล็ดกาแฟคุณภาพจากหลากหลายแหล่งปลูกและสายพันธุ์ ที่รับรองได้ว่าถูกใจคอกาแฟพิเศษอย่างแน่นอน



" เกอิชา จากไร่มากอเลอะ ได้รับรางวัลอันดับที่ 12 ประเภท Natural Process จากเวทีการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทย ครั้งที่ 11 ประจำปี 2567 "


 

Coffee Traveler 

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX

Facebook Coffee Traveler 

Youtube : Coffee Traveler 

48 views0 comments

Comments


bottom of page